บทความน่ารู้

อะไรคือบทเรียนที่ความล้มเหลวฝากเอาไว้

          มนุษย์เราไม่สามารถเรียนรู้ได้อย่างง่ายดายเท่าที่ควร เพราะเราเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงได้ดีกว่าจากผู้อื่น และเราเรียนรู้จากการล้มเหลวได้ดีกว่าการประสบความสำเร็จ เพราะอะไรจึงเป็นเช่นนั้น? ทำไมเราจึงต้องเรียนรู้หลังจากทุกสิ่งพังสิ่งพินาศ? แล้วการล้มเหลวแบบนั้นจะทำให้เราเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วจริง ๆ หรือ? อาจเป็นเรื่องน่ายินดี แต่ผลจากงานวิจัยเสนอว่ามันเกิดขึ้นได้จริง

          นอกเหนือจากการวิวัฒนาการแล้ว มนุษย์เรามีการเรียนรู้ตลอดทั้งชีวิต ไม่ว่าจะจากประสบการณ์ตรงหรือจากสังคมรอบตัว ซึ่งการเรียนรู้จากสังคม (เช่น ผู้คนรอบตัว หนังสือ หรือผู้เชี่ยวชาญ) ควรที่จะเป็นกลยุทธ์ที่เราเลือกใช้เป็นประจำ ด้วยความที่มันง่ายดายกว่าและคุ้มค่ากว่าในแง่ของทรัพยากรที่ต้องเสียไป และเราก็มีตัวอย่างและแหล่งข้อมูลเป็นอีกพันล้านคนให้เลือกสรร อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องน่าเสียดายที่สิ่งที่เรียนผ่านประสบการณ์ของผู้อื่นไม่ได้ได้ผลกับเราขนาดนั้น จึงเป็นสิ่งสำคัญที่เราจะต้องเรียนรู้ด้วยตัวเอง

          เพราะอะไรถึงเป็นเช่นนั้น? คำตอบคือเพราะผู้ใหญ่อย่างเราแทบจะไม่สามารถรับสิ่งใหม่ ๆ ได้เหมือนผ้าขาวที่ไม่เคยเปื้อนสี แต่เราจะทดแทนมุมมองเก่า ๆ ด้วยอะไรใหม่ ๆ ที่เรารับมา ซึ่งหลาย ๆ ครั้งการทำแบบนั้นจะสร้างความลำบากใจขึ้นมาไม่น้อย เพราะมุมมองเก่า ๆ จะยังคงติดค้างอยู่ในใจแม้จะพยายามลบมันออกไปแล้ว

          มีกลไกทางจิตวิทยาและสังคมมากมายที่ป้องกันไม่ให้เราเปลี่ยนใจไปง่าย ๆ ทั้งการมองหาแต่หลักฐานที่จะยืนยันความเชื่อที่ฝังรากลึกของตัวเองและปฏิเสธสิ่งที่ย้อนแย้ง (Confirmation bias) ปรากฎการณ์ทางจิตวิทยาของการปักใจเชื่อ (Backfire effect) ซึ่งคือการไม่ยอมรับว่าความเชื่อของตัวเองเป็นเรื่องที่ผิดแม้จะมีหลักฐานมาโต้แย้ง แล้วยังมีแนวโน้มที่จะเชื่อในความเชื่อของตัวเองมากขึ้นและโต้กลับไปอีกด้วย รวมไปถึงการคิดแบบติดกลุ่ม (Groupthink) ซึ่งกล่าวถึงการที่เราไม่กล้าที่จะโต้แย้งความเห็นส่วนมากในกลุ่มถ้าไม่มีคนนำการโต้แย้งให้

          เพราะการละทิ้งมุมมองเก่าและเรียนรู้มุมมองใหม่จะพาเราออกจากคอมฟอร์ตโซน เราจึงมักจะปฏิเสธสิ่งผู้อื่นพยายามสอนเรา ในทางกลับกัน เราจะเปิดใจรับและซึมซับสิ่งที่เรียนรู้จากประสบการณ์ตรงได้ดีกว่า อย่างที่ผู้บริหารสูงสุดท่านหนึ่งเคยกล่าวเอาไว้ว่า แม้เขาจะย้อนเวลากลับไปสอนเรื่องนี้กับตัวเองเมื่อ 12 ปีก่อน ตัวเขาในอดีตก็คงจะไม่รับฟังจนกว่าจะได้เรียนรู้บทเรียนต่าง ๆ ด้วยตัวเอง

          แต่การได้เรียนรู้ด้วยตัวเองไม่ใช่เรื่องเดียวที่สำคัญ เพราะบทเรียนนั้นจะต้องสร้างความเจ็บปวดให้กับเราจึงจะสอนเราได้ งานวิจัยในปี 2020 โดย Madsen และ Desai เผยว่าความล้มเหลวสอนเราได้ดีกว่าความสำเร็จ และยิ่งไปกว่านั้น บทเรียนจากความสำเร็จยังถูกลืมเลือนได้ง่ายกว่า

          ถ้าจะให้สรุปข้อมูลที่ผ่านมา ก็คงต้องบอกว่ามนุษย์เราเรียนรู้จากความล้มเหลวของตัวเองได้ดีกว่าบทเรียนจากคนอื่น แต่การเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงเช่นนี้ก็ท้าทายมุมมองที่เรามีจนทำให้รู้สึกอึดอัดใจ หากเป็นเช่นนั้น จะมองว่าการเรียนรู้จากความล้มเหลวเป็นเรื่องที่ง่ายได้ไหม? แล้วมันจะเกิดขึ้นได้อย่างไร? บทเรียนอะไรกันแน่ที่เราจะได้รับมา?

          แม้งานวิจัยที่อ้างอิงจะศึกษาว่าเหล่าผู้บริหารระดับสูงเรียนรู้จากข้อผิดพลาดอย่างไร แต่ผลการวิจัยก็สามารถนำไปอธิบายการเรียนรู้จากข้อผิดพลาดโดยทั่วไปได้ กระบวนการเรียนรู้ที่ถูกค้นพบมีความซับซ้อน โดยเกี่ยวพันกับทั้งความเข้าใจเชิงลึกทั้ง 3 ระดับ ปฏิกิริยาระหว่างการหยั่งรู้โดยสัญชาตญาณกับการไตร่ตรอง และความรู้สึกมากมาย ในท้ายที่สุดก็เป็นเพียงการที่เราเรียนรู้ชุดของกฏอันเรียบง่ายที่เหมือนคติพจน์

          การเรียนรู้เริ่มจากความล้มเหลวที่ท้าทายความเชื่อที่เราเคยคิดว่าถูก แต่บทเรียนจะไม่ปรากฏในทันทีทันใดเพราะเราจะยังไม่สามารถประมวลผลได้ว่ามีอะไรเกิดขึ้น แต่มันจะรบกวนใจเราจนต้องมานั่งคิดว่ามุมมองของเราผิดพลาดตรงไหนในตอนนั้น ซึ่งเราจะคิดเกีี่ยวกับเรื่องนั้นซ้ำ ๆ ด้วยความทุกข์ทรมานใจ ในท้ายที่สุด เราก็จะนำเรื่องนี้ไปเล่าให้กับคนที่พร้อมจะช่วยเราหาคำตอบว่ามันผิดพลาดที่ตรงไหน และส่วนไหนที่เราจะต้องปรับแก้

          ขั้นตอนสุดท้ายคือขั้นตอนสำคัญที่จะทำให้เราเข้าใจได้อย่างถ่องแท้ ซึ่งสามารถส่งเสริมด้วยการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น หรือการถอดประเด็นจากหนังสือหรือเหตุการณ์ใกล้เคียงที่กระตุ้นให้เกิดการคิดอุปมาอุปไมย การเข้าใจจะไม่ได้เกิดขึ้นอย่างทันทีทันใดเสมอ แต่มันอาจจะต้องใช้เวลานานกว่านั้น เพื่อให้เราขบคิดว่าอะไรคือสิ่งที่เราจะต้องละทิ้งไป อะไรคือสิ่งที่เราต้องเรียนรู้มาทดแทน และเราต้องทำอย่างไรกับมัน ซึ่งเรามักจะรวมสองข้อหลังไว้ด้วยกันเป็นกฏอันเรียบง่ายที่เหมือนคติพจน์ ที่จะช่วยให้เรามองเห็นบทเรียนจากความล้มเหลวได้เป็นอย่างดี

 

 

         HR องค์กรใด อยากบอกรักพนักงานแบบเกร๋ๆ เท่ๆ แนว HR ยุคใหม่ ที่ดูเเลแบบนั่งอยู่ในใจพนักงาน ลองติดต่อ Solution ปรึกษานักจิตวิทยาจาก Relationflip : Innovative Mental Healthcare Web Application ที่พร้อมช่วยพนักงานของคุณดีลกับปัญหาและเป็นที่ปรึกษาในทุกๆ เรื่องนะคะ Tel: 099-0026888 #InnovativeMentalHealthcare #MentalHealthcareService #Relationflip

Reference: https://www.psychologytoday.com/intl/blog/to-choose-or-not-to-choose/202309/what-exactly-do-we-learn-from-failure