คำถามที่พบบ่อย

1. Relationflip คืออะไร ?

      คือเว็บไซต์ที่รวบรวมนักจิตวิทยาการปรึกษา โดยระบบจะแสดง Profile ประวัติการศึกษา การทำงานที่ผ่านมาของนักจิตวิทยาแต่ละราย เพื่อให้ผู้ขอรับคำปรึกษาสามารถเข้าถึงและเลือกนักจิตวิทยาที่มีประสบการณ์สอดคล้องกับปัญหาที่ต้องการปรึกษา ซึ่งจะให้คำปรึกษาแบบส่วนตัว ผ่านการโทรศัพท์ ครั้งละ 50 นาที โดยประมาณ ด้วยระบบการจองล่วงหน้า โดยระบบของ Relationflip จะมีการบันทึกประวัติการให้คำปรึกษาเพื่อความต่อเนื่องในการให้บริการครั้งต่อไปค่ะ

2. เเน่ใจใช่ไหมว่าความลับจะไม่รั่วไหลอ่ะค่ะ?

      สบายใจได้เลยค่ะ ข้อมูลทุกอย่างที่ปรึกษาจะถูกเก็บเป็นความลับในทุกกรณี ตามจรรยาบรรณทางวิชาชีพของนักจิตวิทยา ซึ่งมีเพียงคุณเเละนักจิตวิทยาเท่านั้นที่รู้ ข้อมูลเหล่านั้น ในส่วนองค์กรของคุณ จะไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลการปรึกษาของท่านได้ เเละจะได้เพียง Report ในภาพรวมเท่านั้นค่ะ ไม่มีการให้ข้อมูลที่สามารถระบุตัวตนของผู้รับบริการเเต่ละท่านอย่างเเน่นอนค่ะ เป็นความลับขนาดถึงขั้นที่ว่า เเม้กระทั่งนักจิตวิทยาที่คุยกับคุณ ก็ไม่สามารถรู้ได้ว่า คุณชื่อ-นามสกุลอะไรค่ะ

3. คำถามเเบบไหนที่จะนำมาคุยหรือปรึกษาได้ เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ได้ไหม?

      สามารถคุยได้ทุกเรื่องค่ะ ทั้งในเรื่องของงานหรือเรื่องส่วนตัว เรื่องที่รู้สึกว่าไม่สบายใจ เล็กๆ น้อยๆ แล้วรู้สึกว่าอยากคุยกับใครสักคน ซึ่งถ้าเล่าให้เพื่อนร่วมงานฟังก็อาจจะไม่เป็นความลับอีกต่อไปในวันพรุ่งนี้? ไม่จำเป็นต้องเป็นประเด็นใหญ่โตอะไร เเค่คุณรู้สึกว่าลังเล หรือตัดสินใจเลือกระหว่างแฟนเก่าหรือแฟนใหม่ดีกว่ากัน? หน้าตาดีอย่างผม ทำไมยังหาแฟนไม่ได้อีกทั้งๆที่ผมก็มีรายได้ 6 หลัก? จะเปลี่ยนสายงานดีไหม? เราจะมีวิธีสื่อสารกับคนรัก คนในครอบครัว,ลูก อย่างไรดี เมื่อลูกมีแฟนคนเเรก? เรื่องราวต่างๆที่รู้สึกค้างคาใจ จนทำให้นอนไม่หลับ เช่น คุณโดนล้อว่าอ้วนตั้งเเต่อายุ 12ปี ? คุณรู้สึกตื่นเต้น เมื่อต้องพรีเซนต์งาน รู้สึกไม่มั่นใจ ชีวิตไม่มีเป้าหมาย เบาสบายไร้เเก่นสาร เป็นคนขี้เหวี่ยง ขี้วีน ขี้โมโห ใจร้อน คุยได้หมดเลยค่ะ

4.การปรึกษากับนักจิตวิทยาแล้วจะได้อะไรเหรอ เเนวทางเป็นยังไง?

      ได้สำรวจตัวเอง และทำความรู้จักตัวเองมากขึ้น เพื่อให้เข้าใจตัวเองมากขึ้น มีแนวทางในการแก้ไขปัญหาด้วยตัวเองค่ะ เวลาคนเรามีปัญหาในใจ มักปรึกษาคนรอบข้าง ซึ่งแทนที่จะได้คำตอบที่ดี หลายครั้งคุณจะยิ่งปวดหัวและคิดหนักกว่าเดิม เพราะมีความคิดเห็นมากมายดังก้องอยู่ในหัวสมอง คุณพยายามหาทางออกไปเรื่อยๆ ยิ่งหนักเข้า ระบบในสมองคุณก็เป๋ไป อาการผิดปกติทางกายก็เริ่มตามมา คุณเริ่มเศร้านานขึ้น ไม่อยากอาหาร ทำงานไม่ได้ เหมือนมีวิญญาณเด็กเกาะบ่าไปเรื่อยๆ เดินไปทางไหนก็หนักใจ (เหมือนใช้หัวเดินแทนขา…) ไม่ว่าคุณจะกลุ้มใจเรื่องอะไรก็มีคุยกับนักจิตวิทยาได้นะ แล้วที่สำคัญสุด นักจิตวิทยาเป็นคนที่เก็บความลับได้อย่างยอดเยี่ยม (เพราะเขาไม่รู้จักคุณเป็นการส่วนตัว ไม่มีส่วนได้เสียกับชีวิตของคุณ) คุณจะหาเพื่อนคนไหนที่เก็บความลับได้ดีเท่าพวกเขาอีกล่ะ ..

5. หลังจากคุยกับนักจิตวิทยาเเล้วชีวิตจะเปลี่ยนไปยังไง?

      มุมมองในการมองปัญหาเปลี่ยนไปค่ะ ระหว่างที่คุยกันเราจะร่วมกันทำความเข้าใจปัญหาที่คุณเจอ และร่วมกันหาทางแก้ไข โดยมีตัวคุณเองเป็นคนเลือกและนำไปปฏิบัติ ประยุกต์ใช้ตามแนวทาง หรือมุมมองใหม่ๆ ที่ได้หลังจากที่เราพูดคุยกันค่ะ

6. นักจิตวิทยาการปรึกษา ไม่มีใบประกอบวิชาชีพ จะให้คำปรึกษาได้หรือ?

      ปัจจุบันเมืองไทยยังไม่มีการสอบใบประกอบวิชาชีพนักจิตวิทยาการปรึกษาค่ะ แต่หวังว่าในอนาคตอันใกล้คาดว่าน่าจะมี ถามว่าให้คำปรึกษาได้หรอ? นักจิตวิทยาการปรึกษา กว่าจะมาทำหน้าที่ตรงนี้ได้ ต้องมีประสบการณ์ ซึ่งได้รับการฝึกปฏิบัติภายใต้การดูแลของผู้เชี่ยวชาญ และทำงานภายใต้จรรยาบรรณของวิชาชีพนักจิตวิทยา จึงจะสามารถประกอบอาชีพนี้ได้ค่ะ

7. ระหว่างคุยกับจิตเเพทย์และนักจิตวิทยา ผลจะเเตกต่างกันยังไง

     จิตแพทย์ : ดูแลด้านการวินิจฉัยโรค ตรวจประเมินผ่านการซักประวัติ ตรวจสภาพจิต และตรวจร่างกาย(ในบางกรณี) เพื่อให้ความเห็นว่าผู้มาปรึกษาเข้าข่ายมีโรคทางกาย หรือโรคทางจิตเวชหรือไม่ และวางแผนการรักษาร่วมกันกับผู้มาปรึกษา ครอบคลุมทั้งการรักษาโดยกินยา และไม่กินยา ซึ่งได้แก่การให้การปรึกษา การทำจิตบำบัด หรือส่งต่อแพทย์เฉพาะทางเพื่อรักษาเพิ่มเติมในกรณีที่อาการทางจิตเวชอาจเกิดจากโรคทางกายอื่นๆ เช่น โรคทางระบบประสาท

     นักจิตวิทยา : สำหรับนักจิตวิทยาคลินิกหรือนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา สามารถให้การปรึกษาหรือทำจิตบำบัด เพื่อดูแลช่วยเหลือด้านอารมณ์หรือสุขภาพจิตของผู้รับบริการ ในกรณีผู้รับบริการมีอาการที่ยังไม่เข้าข่ายโรคทางจิตเวช หรือให้การปรึกษาหรือทำจิตบำบัดผู้รับบริการที่มีโรคทางจิตเวชควบคู่กับการรักษาของแพทย์ โดยนักจิตวิทยาจะไม่เป็นผู้สั่งจ่ายยา

นอกจากนี้ นักจิตวิทยาสามารถร่วมประเมินผู้รับบริการ โดยทำแบบทดสอบทางจิตวิทยา (psychological test) ตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อร่วมประกอบการวินิจฉัยโรค ซึ่งการทำแบบทดสอบบางชนิดจำเป็นต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของนักจิตวิทยา ผู้เข้ารับการประเมินไม่ควรทำเอง และแพทย์ไม่สามารถทำแบบทดสอบแทนให้ได้

     ความแตกต่างของจิตบำบัดกับการปรึกษา?

     การให้การปรึกษา (counseling) : เป็นการรับฟังปัญหาของผู้รับบริการ และพูดคุยเพื่อหาทางแก้ปัญหาร่วมกันกับผู้รับบริการ โดยมีการให้แนวทาง หรือพูดคุยแลกเปลี่ยนกันถึงเรื่องทางเลือกต่างๆ ในการแก้ปัญหา ข้อดีและข้อเสียของแต่ละทางเลือก โดยผู้รับบริการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเลือกวิธีแก้ปัญหา

     จิตบำบัด (psychotherapy) :  เป็นกระบวนการบำบัดรักษาทางจิตเวช เป็นเรื่องของกระบวนการที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในจิตใจ ที่มีการพบกันระหว่างผู้ทำจิตบำบัด (therapist) และผู้รับบริการ (client) โดยมีลักษณะการรักษาเป็นการพูดคุยที่มีองค์ประกอบและขั้นตอนที่ละเอียดกว่าการให้คำปรึกษาทั่วๆไป มีเป้าหมายในการบำบัดรักษาที่ชัดเจน มักมีจำนวนคาบที่ชัดเจนกว่า และมักใช้ระยะเวลานานกว่าการให้การปรึกษา

อุปมาอุปไมย เช่น การให้การปรึกษา (counseling)  คือการทำให้วัชพืชที่ปกคลุมอยู่หน้าดินหายไปด้วยการดายหญ้า ซึ่งก็มีโอกาสที่หญ้าอาจจะกลับมาเติบโตได้อีก แต่ในขณะที่ จิตบำบัด (psychotherapy) จะเปรียบเสมือนการทำให้รากของวัชพืชตาย แบบถอนรากถอนโคน หญ้าก็จะมีโอกาสเกิดน้อยลงหรือหายไปจากหน้าดินแบบถาวร เป็นต้น

หรืออีกตัวอย่างเช่น counselling เหมือนการทำแผล ส่วน psychotherapy เหมือนการผ่าตัด การผ่าตัดเป็นงานใหญ่กว่า ตัวผู้รักษาต้องผ่านการเรียนการฝึกฝนทักษะเฉพาะจนมีความรู้ความชำนาญ และ ตัวผู้รับการรักษาเองก็ต้องมีความพร้อมสำหรับการผ่าตัด ไม่ใช่ทุกคนที่สภาพร่างกายพร้อมเข้ารับการผ่าตัด

     ทั้งนี้ในแต่ละเคสปัญหาอาจจะมีประเด็นที่หนัก-เบาแตกต่างกันไป ดังนั้น อาจจะไม่มีความจำเป็นที่จะต้องถึงขั้นทำ จิตบำบัด (psychotherapy) ในทุกเคส ในบางเคสที่ปัญหาไม่ได้ซับซ้อนมาก การให้การปรึกษา (counseling) ก็อาจจะเพียงต่อที่จะทำให้ผู้รับบริการสามารถนำไปแก้ปัญหาต่อได้ด้วยตนเองแล้ว

8. นักจิตวิทยา ป.ตรี ป.โท ต่างกันอย่างไร? เเล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าควรเลือกท่านไหน?

      ต่างกันที่ประสบการณ์ค่ะ แน่นอนว่า ป.โท มีประสบการณ์มากกว่า ได้รับการฝึกฝนที่เยอะกว่า และได้เรียนทักษะ เทคนิคและกระบวนการที่ลึกมากขึ้น แต่หาก ป.ตรี ที่ทำงานมานาน คลุกคลีกับงานด้านนี้ และมีความกระตือรือร้นในการพัฒนาตนเอง ประกอบกับเข้าร่วมการฝึกปฏิบัติมากขึ้นก็เป็นไปได้ว่าอาจจะมีประสบการณ์มากว่า ป.โทบางท่านค่ะ
     ส่วนจะรู้ได้อย่างไรว่าควรเลือกท่านไหน? เลือกคนที่คิดว่าเราคุยด้วยแล้วจะสบายใจที่จะเล่าปัญหาของเราค่ะ โดยคุณอาจจะดูจากประวัติการทำงาน ประสบการณ์ต่างๆ ก็ได้ค่ะ

9. ต้องปรึกษากี่ครั้งถึงจะได้ผลล่ะ ?

      ไม่สามารถกำหนดได้ตายตัวแน่นอนว่าต้องรับการปรึกษากี่ครั้ง ขึ้นอยู่กับสภาพปัญหาของแต่ละบุคคลคนค่ะ

10. ระยะเวลาที่เเนะนำในการคุยเเต่ละครั้งควรจะเป็นยังไง

      45 นาที - 1 ชั่วโมงโดยประมาณค่ะ

11. ปรึกษาเเล้วจะดูเป็นคนบ้าไหมคะ?

      ไม่บ้าก็คุยได้ค่ะ เพราะถ้าเป็นคนบ้าจริง เราจะไม่คุยด้วยเนื่องจากคุยไม่รู้เรื่องค่ะ ☺ พวกเราเมื่อพูดถึงคนบ้า (จริงๆ เป็นคำที่เก่า โบราณมาก วัยรุ่นยุคใหม่จะไม่ใช้คำนี้) คนบ้าคือ คนที่มีการรับรู้ที่ผิดปกติ เช่น ได้ยินเสียงคนมาคุยด้วย ทั้งมาชม มาว่า มาด่า และบางครั้งก็ไปคุยกับเขา (เราจึงเห็นคนบ้าคุยคนเดียว) อาการแบบนี้เรียกว่า หูแว่ว ได้ยินเสียงทั้งๆ ที่ไม่มีคนพูด อาการหวาดระแวง เช่น คิดว่าจะมีคนแอบมาทำร้าย มีคนมาปองร้าย อาการต่อมาที่เราอาจจะเห็นได้ก็คือ อาการหลงผิด คิดว่าตัวเองเป็นคนนั้น คนนี้ คิดว่าเป็นคนสำคัญ มีความสามารถพิเศษติดต่อกับเทพเจ้าได้ เป็นต้น เพราะฉะนั้นเราก็ไม่สามารถคุยกับคนที่บ้าแบบนี้ได้ค่ะ

12. ใช้เวลาในการจองก่อนคุยกับนักจิตวิทยากี่ชมเหรอ? ฉันต้องจองล่วงหน้ากี่ชั่วโมง

      จองล่วงหน้าอย่างน้อย 6 ชม. ค่ะ สามารถจองผ่านระบบได้ตลอด24ชม ระบบจะทำการยืนยันด้วยการส่งอีเมลไปยังฝ่ายผู้รับบริการ โดยนักจิตวิทยาจะเริ่มให้บริการทุกต้นชั่วโมงค่ะ

13. การปรึกษาแบบนัดหมายส่วนตัว โทรศัพท์ และการปรึกษาผ่านข้อความออนไลน์ มีความเเตกต่างกันอย่างไรบ้าง?

รูปแบบการปรึกษา ข้อดี ข้อด้อย
นัดหมายส่วนตัว (การปรึกษาแบบเผชิญหน้ารายบุคคล) สามารถพูดคุยทุกเรื่องได้อย่างละเอียดและชัดเจน สามารถสังเกตได้ทั้งภาษาพูด ภาษากาย (น้ำเสียงและท่าทีต่างๆ) เป็นการเปิดเผยตัวตนชัดเจน การเดินทางเพื่อมาพบผู้ให้การปรึกษา ซึ่งอาจต้องเสียทั้งค่าใช้จ่ายและเวลาในการเดินทาง
การโทรศัพท์ สามารถพูดคุยทุกเรื่องได้อย่างละเอียดและชัดเจนในระดับหนึ่ง เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่ต้องการเปิดเผยตัวตน ไม่ต้องเดินทาง ลดค่าใช้จ่ายและระยะเวลาในการเดินทาง การให้คำปรึกษาไม่สามารถสังเกตภาษากาย (ท่าทีอื่นๆ)
ผ่านช่องทางข้อความออนไลน์ (แชท) สามารถพูดคุยได้ในระดับหนึ่ง เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่ต้องการเปิดเผยตัวตน ไม่ต้องเดินทาง ลดค่าใช้จ่ายและระยะเวลาในการเดินทาง การให้คำปรึกษาไม่สามารถสังเกตภาษากาย (น้ำเสียงและท่าทีอื่นๆ) ขาดความต่อเนื่องในการพูดคุย หากไม่มีการนัดหมายเวลาไว้ล่วงหน้า และมีข้อควรระวังเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว และการรักษาความลับของผู้รับคำปรึกษา

14. ฉันควรเตรียมตัวอย่างไรบ้างก่อนมาปรึกษานักจิตวิทยา?

      เตรียมเปิดใจให้พร้อม และเตรียมตัวให้ว่างจากการรบกวนต่างๆ ตรวจสอบสัญญาณการติดต่อสื่อสาร สถานที่เก็บเสียง ที่ทำให้คุณสามารถคุยได้ต่อเนื่องอย่างมีสมาธิ ระหว่างที่รับบริการปรึกษาค่ะ

15. ถ้าเป็นครอบครัว คู่รักจะสามารถปรึกษาได้ไหม

      ได้ค่ะ จะเป็นแค่คนเพิ่งเริ่มคบกัน ชายจริงหญิงแท้ คู่รักเพศทางเลือกใดๆก็ตาม ได้ทั้งหมดเลยค่ะ

16. จะต้องเซนต์ consent เพราะอะไร ชีเรียสไปไหม?

      ซีเรียสค่ะ เพื่อความปลอดภัยของตัวคุณเอง เป็นการปกป้อง พิทักษ์สิทธิ์ของผู้รับคำปรึกษา และตัวนักจิตวิทยาการปรึกษาค่ะ คล้ายๆ กับการแสดงความยินยอมตอนเราเข้ารับการรักษาทางการแพทย์ในโรงพยาบาลค่ะ

About our Counselors

สนใจร่วมงานกับเรา มีขั้นตอนการคัดเลือกนักจิตวิทยาในเว็บไชต์อย่างไร กระบวนการตรวจสอบ? หากคุณเป็นนักจิตวิทยาที่สนใจเข้าร่วมเป็นนักจิตวิทยาของ Relationflip.com สามารถติดต่อได้ที่ RF Call center 081-8330148 เพื่อสอบถามรายละเอียดในเบื้องต้น รวมทั้งรับทราบข้อมูลในการสมัคร และตรวจสอบประวัติในขั้นตอนต่อไปค่ะ