บทความน่ารู้

ดูแลใจยังไงให้เวิร์ค พร้อมลุย Work from Home!

หลายคนที่ต้อง WFH ช่วงนี้เคยสังเกตตัวเองบ้างไหมว่าเราเครียดกว่าไปทำงานออฟฟิศหรือเปล่านะ ให้ตายเถอะนวล!! ทั้งๆ ที่ไม่ต้องรับหน้าดีลกับเจ้านายหรือเพื่อนร่วมงานตรงๆ แถมเวลาทำงานก็ดูเหมือนว่าจะยืดหยุ่นมากขึ้นแท้ๆ แต่ทำไมถึงยังรู้สึกเครียดและกดดันมากกว่าเดิมกันนะ… คำถามเหล่านี้ นักจิตวิทยามีคำตอบค่ะ นั่นเป็นเพราะสภาพแวดล้อมของการทำงานที่บ้านไม่ได้ทำให้เรารู้สึกว่าต้องทำงาน รวมทั้ง ‘สิ่งรบกวนต่างๆ’ ที่มักดึงดูดความสนใจเราอยู่เสมอ ทำให้เรารวบรวมสมาธิการทำงานได้ยากยิ่งขึ้น เช่น ข่าวในทีวี โซเชียลมีเดียในมือถือ เรื่องราวของคนในบ้าน ฯลฯ รวมทั้งการที่ไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานอย่างที่เคยอาจทำให้เรารู้สึก ‘โดดเดี่ยว ไม่มีแรงจูงใจทำงาน เบื่อหน่าย เครียด กดดัน และอาจลามไปถึงวิตกกังวลเพิ่มขึ้น’ ซึ่งหากใครที่กำลังเผชิญกับความรู้สึกเหล่านี้อยู่ มาดูทริคดีๆ ที่นักจิตวิทยาแนะนำไว้ในช่วง WFH ที่ช่วยให้ใจยังเวิร์คกันเลยค่ะ 1. อย่ามัวเเต่ร้องเพลง “ไม่ไหว บอกไหว” ทริคนี้คือก้าวแรกที่สำคัญในการไม่ต้องฝืนเก็บความรู้สึกลบๆ ที่มีต่อสถานการณ์ จำไว้ว่าคุณไม่ใช่เฮอร์คิวลิสต์ รถชนเเล้วต้องไม่ตาย ไม่ใช่นะเราทุกคนล้วนมีหัวใจ หากรู้สึกว่าแย่จัง เครียดจัง กดดันจริงๆ ให้ยอมรับกับตัวเองว่า ใช่แล้ว มันไม่ไหว ก็ให้ยอมรับกับตัวเองตรงๆ เมื่อสถานการณ์มันเกินกำลังที่เราจะควบคุม สิ่งที่เราทำได้คือการต้องรู้สึกปรับเปลี่ยนคิดและวิธีการทำงานเสียใหม่ เพื่อทำให้ทุกอย่างมันโอเคขึ้น 2. มี Routine ยังไงก็ดีที่สุด! เพราะการเซ็ต Schedule จะช่วยให้เรามี Routine หรือแบบแผนการใช้ชีวิตในแต่ละวันที่ชัดเจน วิธีการนี้จะช่วยเตรียมจิตใจของเราให้พร้อมทำตามเป้าหมายที่วางไว้ได้ง่ายขึ้น แถมยังช่วยให้เราโฟกัสในสิ่งที่ต้องทำจริงๆ ในแต่ละช่วงเวลาได้ดีอีกด้วยล่ะ 3. สร้างสภาพแวดล้อมการทำงานให้เวิร์ค เชื่อหรือไม่ว่า “โต๊ะโล่งๆ เก้าอี้นั่งสบายๆ และบรรยากาศเงียบๆ ผ่อนคลาย” จะช่วยให้เราทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อรู้แบบนี้แล้วก็ไม่ควรปล่อยให้โต๊ะรกนะคะ เพราะมันจะพลอยทำให้จิตใจเรายุ่งเหยิง ควรเคลียร์โต๊ะให้โล่ง แบ่งพื้นที่ทำงานให้เป็นสัดส่วนชัดเจน และวางแต่อุปกรณ์สำหรับทำงานเท่านั้น เพียงแค่จัดโต๊ะทำงานแบบนี้ก็ช่วยให้เราพร้อมลุยงานต่อได้ยาวๆ โดยไม่วอกแวกแล้วล่ะค่ะ 4. เหนื่อยนัก ก็พักไปซบไหล่ธรรมชาติ เมื่อทำงานไปได้สักระยะ หากรู้สึกล้าจะทั้งจิตใจหรือสภาพร่างกาย ให้ลุกออกมาจากโต๊ะทำงาน ออกมาเดินยืดแข้งยืดขา หรือถ้าให้ดีหากใครอยู่ใกล้ชิดธรรมชาติหรือมีสวนหย่อม ก็ให้ออกไปเดินสูดอากาศ ชมต้นไม้ดอกไม้สักพัก เพราะงานวิจัยจาก Cambridge Health Alliance ออกมายืนยันแล้วว่า การออกไปเดินชมธรรมชาติแค่สักพักก็สามารถช่วยลดฮอร์โมนเครียด ลดความคิดเชิงลบ และช่วยให้เราลดความวิตกกังวลไปได้จริงๆ 5. จบวันด้วยสิ่งดีๆ หลังจากที่ทำงานกันอย่างเต็มที่มาทั้งวันแล้ว ก็อย่าลืม “ให้รางวัลตัวเองด้วยสิ่งที่ทำให้ตัวเองมีความสุข” เช่น ดูหนังที่ชอบ วิดีโอแชทเม้าท์มอยกับเพื่อนให้หายคิดถึง ทำอาหารอร่อยๆ กินให้หายเหนื่อย หรือจะเล่นกับสัตว์เลี้ยงให้เพลินๆ ฯลฯ ควรหาเวลาทำกิจกรรมสร้างความสุขแบบนี้หลังทำงานเสร็จแล้ว เพื่อเป็นการให้รางวัลกับตัวเองสมกับที่ขยันทำงานหนักมาตลอดวัน และยังถือเป็นการจบวันอย่างแฮปปี้ ช่วยให้เรารีชาร์ตพลังและพร้อมเริ่มต้นวันใหม่ที่สดใสอีกครั้งนั่นเองค่ะ HR องค์กรใด อยากบอกรักพนักงานแบบเกร๋ๆ เท่ๆ แนว HR ยุคใหม่ ที่ดูเเลแบบนั่งอยู่ในใจพนักงาน ลองติดต่อ Solution ปรึกษานักจิตวิทยาจาก Relationflip : Innovative Mental Healthcare Web Application ที่พร้อมช่วยพนักงานของคุณดีลกับปัญหาและเป็นที่ปรึกษาในทุกๆ เรื่องนะคะ Tel: 099-0026888 #InnovativeMentalHealthcare #MentalHealthcareService #Relationflip

ที่มา: https://weworkremotely.com/how-to-keep-your-mental-health-in-check-when-you-work-from-home https://www.psychologytoday.com/us/blog/digital-leaders/202003/5-tips-working-home-amid-covid-19

ใครไม่แคร์ “Other-care”...รู้จักแคร์ผู้อื่น

เคล็ดลับรับมือความโดดเดี่ยวช่วงกักตัวที่ดีกว่า “Self-care” ทำสมาธิ เล่นโยคะ อ่านหนังสือ มาส์กหน้า แช่น้ำอุ่น ฯลฯ เคล็ดลับดูแลตัวเองที่ชาว self-care ทำเพื่อช่วยให้รู้สึกดีขึ้นเมื่ออยู่ในระหว่างการกักตัว ที่อาจเกิดความรู้สึกเครียดหรือวิตกกังวลกับสถานการณ์ในปัจจุบัน แม้ว่ากิจกรรมดูแลตัวเองเหล่านี้จะช่วยให้เรารู้สึกดีขึ้นได้จริง แต่คำถามคือ “การดูแลตัวเอง (self-care)” จะช่วยเยียวยาจิตใจเราได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือมันแค่ช่วยให้เรารู้สึกดีขึ้นแค่ประเดี๋ยวประด๋าวเท่านั้น? Laurie Santos ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาประจำมหาวิทยาลัยเยล (Yale University) ได้ตั้งคำถามในประเด็นนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า แม้ไอเดียการดูแลตัวเองด้วยตัวเองจะดีแค่ไหนก็ตาม แต่ความที่มนุษย์เป็นสัตว์สังคม และจำเป็นต้องมีสายสัมพันธ์กับผู้อื่นเพื่อให้รู้สึกถึงการเชื่อมต่อกับสังคมและป้องกันการรู้สึกโดดเดี่ยว การแบ่งเวลา self-care มาแคร์ผู้อื่นบ้างก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดีกับตัวเราอย่างยั่งยืนมากกว่า และ Johann Hari นักเขียนผู้เชี่ยวชาญประเด็นภาวะซึมเศร้าเจ้าของหนังสือขายดี “Lost Connections” ยังเสริมด้วยว่า ที่เราต้องแคร์คนอื่นก่อนตัวเอง ก็เพราะมนุษย์จำเป็นที่จะต้องรู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่ง การดูแลใส่ใจคนอื่นจะช่วยให้เรารู้สึกว่าชีวิตมีความหมายกับทั้งผู้อื่นและสังคม และนั่นจะช่วยทำให้เรารู้สึกว่าชีวิตของเรามีคุณค่านั่นเอง แต่ในช่วงเวลาของการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social distancing) ที่ทำให้เราหลุดความรู้สึกเชื่อมโยงกับเพื่อนมนุษย์ไปได้ง่ายๆ อาจนำพาเราไปสู่ความรู้สึกโดดเดี่ยวมากขึ้น และความโดดเดี่ยวนี้เองที่สามารถส่งผลร้ายต่อสุขภาพเทียบเท่ากับการสูบบุหรี่ 15 ม้วนต่อวัน (จากงานวิจัย “Loneliness: A disease?” ตีพิมพ์ในวารสาร Indian Journal of Psychiatry) ดังนั้นแล้ว หากเราต้องการดูแลร่างกายและจิตใจของเราให้ดีที่สุดในช่วงที่ต้องกันตัวเองจากสังคมเช่นนี้ ก็ต้องอย่าลืมแบ่งเวลาดูแลตัวเอง (self-care) ไปใส่ใจผู้อื่นด้วย (other-care) นั่นอาจหมายความว่า ในขณะที่คุณกำลังมาส์กหน้าอยู่ ลองเจียดเวลาสักนิดโทรไปหาเพื่อนหรือครอบครัว ถามไถ่ถึงชีวิตในช่วงนี้ให้พวกเขารู้ว่ายังมีเรานะที่แคร์อยู่ การแสดงออกถึงความใส่ใจและพร้อมที่จะเป็นผู้ให้ในช่วงที่ทุกคนต่างก็อ่อนไหวแบบนี้ อาจช่วยเยียวยาจิตใจของเราได้ดีอย่างคาดไม่ถึงเลยทีเดียว! แต่หากตอนนี้คุณกำลังรู้สึกว่าดูแลใครไม่ไหว และอยากให้ใครมาดูแล อยากให้รู้ไว้ว่ายังมี Relationflip อยู่ตรงนี้ที่ยังแคร์คุณอยู่เสมอ! และไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรที่อยากให้เราใส่ใจ ลองมาปรึกษานักจิตวิทยาจาก Relationflip ได้ทุกเรื่องเลยนะคะ

ที่มา: https://forge.medium.com/self-care-wont-cure-what-ails-you-d446ca231e67 https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3890922/