บทความน่ารู้

ปลดปล่อยใจจากความกังวล

          มีเรื่องราวต่าง ๆ มากมายที่อาจกวนใจจนทำให้เรากังวล ทั้งเรื่องที่สั่นสะเทือนไปทั้งโลกอย่างการระบาดของไวรัสและภาวะโรคร้อน หรือเรื่องส่วนตัวอย่างความเครียดทางการเงิน ปัญหาสุขภาพ หรือความขัดแย้งกับคนรอบตัว สำหรับคนรุ่นใหญ่ ความกังวลอาจเกี่ยวข้องกับอัตราส่วนของเวลาที่ผ่านมาและเวลาที่ยังเหลืออยู่

          ปัญหานี้เกี่ยวกับความจริงที่ว่ามนุษย์เราแตกต่างจากสัตว์อื่น ๆ ในขณะที่สัตว์อยู่กับปัจจุบัน เรากลับมีความสามารถในการคาดการณ์ถึงอนาคต เราจึงสามารถเสียเวลาไปกับการคิดเกี่ยวกับอายุขัย การเอาแต่คิดแค้นคนที่เคยทำไม่ดีกับเรา และคิดเกี่ยวกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับพวกเขาในอนาคต

          จะเห็นได้ว่าความกังวลเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับมนุษย์ ซึ่งถึงแม้จะไม่วิธีกำจัดมันโดยสมบูรณ์ก็อย่าเพิ่งหมดหวัง เพราะ 3 วิธีต่อจากนี้อาจช่วยลดความกังวลที่เกิดขึ้นได้

 

1. อย่ากังวลเกี่ยวกับความกังวลที่มี

          บ่อยครั้งเมื่อเรารู้สึกกังวล เราก็จะมองเห็นส่วนหนึ่งในใจที่วิจารณ์ตัวเองที่รู้สึกกังวลด้วย แต่คำที่เราใช้ระงับจิตใจอย่าง “อย่ากังวลไปเลย จงมีความสุข” หรือ “อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด ไม่มีเหตุผลที่เราจะต้องมานั่งกังวล” คงไม่ได้ช่วยลดความกังวลที่มีสักเท่าไหร่ ดังนั้นคำแนะนำข้อที่หนึ่งคือ “จงอย่ากังวลที่ตัวเองรู้สึกกังวล” ไม่อย่างนั้นทั้งความกังวลที่มีและคำที่เราวิพากษ์วิจารณ์ตัวเองจะกลับมาทำร้ายเราในที่สุด และการซ้ำเติมตัวเองก็มีแต่จะทำให้รู้สึกแย่ลงไปอีก

          วิธีรับมือที่ดีคือการปล่อยให้มันเป็นไป หากคุณกังวลก็ยอมรับว่าคุณกำลังกังวลอยู่ หรือแม้กระทั่งกับความรู้สึกเชิงลบอื่น ๆ เช่น ความเศร้า ความกลัว ความโกรธ ความเจ็บปวด และความอับอาย อย่าลืมว่าสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นความรู้สึกที่มนุษย์เผชิญเป็นปกติ

 

2. ใจดีกับตัวเองให้มาก

          นอกจากจะลดละการวิจารณ์ตัวเองแล้ว จงอย่าลืมที่จะอ่อนโยนกับตัวเองเมื่อรู้สึกตัวว่ากำลังกังวลอยู่ ซึ่งคำแนะนำนี้สามารถนำไปปรับใช้กับอารมณ์อื่น ๆ ได้เช่นกัน ลองฟังสิ่งที่เรารู้สึกอยู่ข้างใน และถามตัวเองว่ากำลังรู้สึกอับอายกับบางมุมของตัวเองที่เป็นธรรมชาติของมนุษย์อยู่หรือเปล่า เพราะความรู้สึกอับอายนั้นจะทำให้เราตกอยู่ในวังวนของการวิจารณ์และตำหนิตัวเอง

          หากใครกำลังทำร้ายตัวเองเช่นนั้น ก็อยากขอให้ใจดีกับตัวเองมากกว่านี้หน่อย ปล่อยให้ใจได้รู้สึกตามที่รู้สึกและอ่อนโยนกับมัน เพราะแม้แต่ความรู้สึกที่หนักใจที่สุดก็อาจทุเลาลงได้หากเรายอมรับและอยู่กับมันด้วยความเข้าใจ อย่างที่ Carl Rogers นักจิตวิทยาชื่อดังเคยกล่าวเอาไว้ว่า “เมื่อใดที่เรายอมรับตัวเองในแบบที่เราเป็น เมื่อนั้นเราจึงจะสามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองได้”

 

3. อยู่กับร่างกาย ไม่ใช่ความคิด

          เคยประสาทเสียเพราะความรู้สึกนึกคิดของตัวเองบ้างไหม? บ่อยครั้งความคิดของเราเป็นตัวการย้ำเตือนสิ่งที่ทำผิดไป ซ้ำยังเอาแต่ตอกย้ำเรื่องที่ควรทำหรือไม่ควรทำในอดีต รวมถึงเรื่องที่อาจจะผิดพลาดได้ในอนาคต สาเหตุเกิดจากการที่สมองของเราถูกออกแบบให้ระวังอันตรายอยู่เสมอ จึงจะคอยใส่ใจกับประสบการณ์ด้านลบมากกว่าประสบการณ์ด้านบวกเพื่อปกป้องให้เราปลอดภัย

 

          บางครั้งการต่อสู้กับความคิดด้วยความคิดก็เป็นวิธีรับมือที่ได้ผล อย่างเช่นการเข้ารับบริการบำบัดจิตด้วยความคิด (Cognitive Therapy) เพราะเมื่อเราคิดถึงผลลัพธ์ที่แย่ที่สุดที่เป็นไปได้และเชื่อว่ามันจะเกิดขึ้นกับตัวทั้งที่ไม่มีหลักฐานมารองรับ การรับรู้ของเราก็จะถูดบิดเบือนด้วยความคิดที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนหลักเหตุผลไปโดยปริยาย

          หากเป็นเช่นนั้น การคอยดึงสติตัวเองและคิดตริตรองตามสถานการณ์จริงอาจช่วยได้ แต่วิธีที่เป็นประโยชน์ที่สุดก็คือการหยุดคิดและใช้ร่างกายของเราเพื่อทำใจให้สงบลง กล่าวคือ เมื่อเราพบว่าตัวเองกำลังติดอยู่ในวังวนของความคิดที่ไม่สร้างสรรค์ ลองผ่อนคลายร่างกายและกำหนดจิตที่ลมหายใจที่เข้าไปในปอด นอกจากนี้ การฝึกกายอย่างโยคะ ไทเก๊ก ชี่กง การออกกำลังกาย หรือการเดินท่ามกลางธรรมชาติ รวมถึงการฝึกใจให้สงบด้วยการนั่งสมาธิหรือการฝึกสติก็ล้วนเป็นวิธีที่ได้ผล 

          วิธีฝึกกายและฝึกจิตเหล่านี้ล้วนทำให้เราอยู่กับปัจจุบัน และเมื่อเราไม่คิดฟุ้งซ่าน เราก็จะพร้อมรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ในชีวิตด้วยความสงบ และยังลดโอกาสที่จะตกเป็นเหยื่อของความกังวลที่ไม่สร้างสรรค์ จงอย่าลืมว่าเราแทบไม่สามารถควบคุมสิ่งต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นกับตัวเราและโลกของเราได้เลย แต่เรายังสามารถเลือกได้ว่าเราจะรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไร

 

 

         HR องค์กรใด อยากบอกรักพนักงานแบบเกร๋ๆ เท่ๆ แนว HR ยุคใหม่ ที่ดูเเลแบบนั่งอยู่ในใจพนักงาน ลองติดต่อ Solution ปรึกษานักจิตวิทยาจาก Relationflip : Innovative Mental Healthcare Web Application ที่พร้อมช่วยพนักงานของคุณดีลกับปัญหาและเป็นที่ปรึกษาในทุกๆ เรื่องนะคะ Tel: 099-0026888 #InnovativeMentalHealthcare #MentalHealthcareService #Relationflip

Reference: https://www.psychologytoday.com/intl/blog/intimacy-a-path-toward-spirituality/202311/unwinding-from-worry