บทความน่ารู้

9 เคล็ดลับบริหารเวลาและแก้ไขการผัดวันประกันพรุ่งอย่างชาญฉลาด

1. เริ่มต้นด้วยการปรับทัศนคติ

          หากคุณคิดว่าชีวิตของคุณไร้ความหวัง การบริหารเวลาให้ดีก็คงไม่ใช่เรื่องที่คุ้มค่าที่จะทำสักเท่าไหร่ในสายตาคุณ แต่ถึงแม้มันจะดูเพ้อฝันเพียงใด ชีวิตของคนเราก็สามารถพัฒนาขึ้นได้ และอาจมากพอที่จะทำให้เราขยับตัวทำอะไรสักอย่างเพื่อไม่ให้เวลาผ่านไปอย่างสูญเปล่า เพราะฉะนั้นจงเริ่มต้นด้วยการมุ่งไปข้างหน้าด้วยก้าวเล็ก ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเสริมสร้างสุขภาพ การหางาน การสานสัมพันธ์ หรือการออมเงินก็ตาม

          เมื่อคุณเริ่มเห็นถึงความคืบหน้า คุณอาจมีแรงจูงใจในการบริหารเวลาและแก้ไขปัญหาเรื่องการผัดวันประกันพรุ่งมากขึ้น เมื่อเป็นเช่นนั้น คุณก็จะสามารถเดินหน้าไปยังเคล็ดลับข้อถัดไปได้ในที่สุด

 

2. จัดลำดับความสำคัญ

          เมื่อพิจารณาจากลำดับความสำคัญในชีวิต ลองถามตัวเองดูว่าสิ่งนั้นคุ้มค่าที่จะทำไหม ยกตัวอย่างเช่น ถ้าครอบครัวคือสิ่งที่สำคัญอันดับแรกของชีวิต การใช้เวลาช่วงเย็นที่บ้านกับพวกเขาก็อาจเป็นเรื่องที่คุ้มค่าสำหรับคุณ แต่ถ้าคุณให้ความสำคัญกับงานมากกว่า คุณก็อาจใช้เวลาช่วงเย็นไปกับการทำงาน เป็นต้น

 

3. เงี่ยหูฟังเสียงที่บอกให้ใช้เวลาอย่างอย่างคุ้มค่า

          ลองจินตนาการถึงเสียงสองเสียงที่ดังขึ้นในหัวเมื่อคุณกำลังทำงาน เสียงหนึ่งอาจกระซิบถามคุณว่า “การใช้เวลาเท่านี้กับงานนี้เป็นเรื่องที่มีประสิทธิภาพไหม” ส่วนอีกเสียงอาจถามคุณว่า “นี่เป็นวิธีที่เร็วที่สุดไหม” หรือ “นี่เป็นวิธีที่ดีที่สุดหรือเปล่า” เสียงแรกคือเสียงที่คุณควรตั้งใจเงี่ยหูฟังตลอดทั้งการทำงาน เพราะมันจะทำให้คุณมานั่งพิจารณาว่าวิธีการทำงานของคุณจะสามารถใช้ทุกวินาทีได้อย่างคุ้มค่าที่สุดหรือเปล่า ในขณะที่เสียงแบบอื่นที่ยกตัวอย่างมารังแต่จะทำให้คุณประมาทเลินเล่อเพราะต้องการความไว แล้วยังทำให้เสียเวลามากเกินความจำเป็นเพราะมุ่งแต่จะผลิตผลลัพธ์ที่สมบูรณ์แบบ

 

4. จดบันทึกระหว่างวัน

          แม้จะเป็นวิธีที่ต้องใช้ความอุตสาหะเป็นอย่างมาก แต่การจดบันทึกระหว่างวันจะช่วยคุณได้มากหากคุณเป็นหนึ่งในคนที่จำไม่ได้ว่าชั่วโมงที่ผ่านมาเกิดอะไรขึ้น วันทั้งวันผ่านไปตั้งแต่เมื่อไหร่ และหลงลืมว่าที่ผ่านมาคุณใช้ชีวิตไปอย่างไรบ้าง ลองตั้งเวลาบนนาฬิกาหรือโทรศัพท์ของคุณให้ดังขึ้นทุก ๆ 15 นาที และให้จดบันทึกลงโทรศัพท์หรือกระดาษโน้ตทุกครั้งว่าคุณทำอะไรลงไปบ้างใน 15 นาทีที่ผ่านมา เมื่อจบวันก็ให้นำบันทึกเหล่านั้นมาอ่านดู แล้วลองพิจารณาว่าคุณอย่างเปลี่ยนแปลงการจัดสรรเวลาของคุณหรือไม่

 

5. เริ่มจากภารกิจที่ใช้เวลา 1 วินาที

          เวลาเพียง 1 วินาทีเป็นเวลาสั้น ๆ แต่มันจะทำให้คุณไม่หมดกำลังใจ ยกตัวอย่างเช่น หากคุณไม่รู้ว่าควรจะเริ่มที่ตรงไหน ให้ลองมองหาดูว่ามีใครให้ถามคำถามได้หรือเปล่า เมื่อทำภารกิจสั้น ๆ แบบนี้ไปเรื่อย ๆ ก็จะสามารถสร้างแรงผลักดันให้ตัวเองได้ในที่สุด

 

6. ฝ่าฟันต่ออีกแค่ 1 นาที

          ในบางครั้งปัญหาไม่ได้อยู่ที่การเริ่มงาน แต่เป็นส่วนที่ยากของงานที่ทำให้เลิกล้ม โดยปกติแล้วการฝืนฟันฝ่าต่อไปอีกแค่ 1 นาทีสามารถช่วยคุณได้ แต่ถ้าหลังจากนั้นก็ยังไม่มีความคืบหน้าอะไร ก็มีโอกาสสูงที่การดิ้นรนต่ออาจไม่ช่วยอะไรเท่าไหร่ เมื่อถึงจุดนั้น คุณควรตัดสินใจว่าจะขอความช่วยเหลือ ตัดส่วนที่ยากนั้นออกไป หรือกลับมาทำใหม่ในภายหลังเพื่อที่จะสามารถมองปัญหานั้นด้วยมุมมองใหม่ ๆ

 

7. สร้างแรงกดดันจากสังคมด้วยตัวเอง

          ใครหลาย ๆ คนอาจตอบสนองได้ดีภายใต้ความกลัวการอับอายต่อสาธารณชน เพราะฉะนั้น ลองเขียนเป้าหมายของคุณลงบน Facebook หรือลองบอกมันกับเพื่อน ๆ ดู หลังจากนั้นก็รายงานพวกเขาว่าคุณทำมันสำเร็จไหม (ถ้าเป็นโปรเจ็คระยะยาวให้เปลี่ยนเป็นเป้าหมายของคุณในแต่ละวัน) อีกวิธีหนึ่งคือการเข้าร่วมกลุ่มที่มีการผลัดกันเล่าถึงเป้าหมายและความคืบหน้าของตนในการประชุมที่จัดขึ้นเป็นประจำ

 

8. เผชิญหน้าความกลัวการล้มเหลว

          คนจำนวนหนึ่งมักจะผัดวันประกันพรุ่งเพราะกลัวความล้มเหลว ในบางครั้งความกลัวนั้นก็อาจเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล แต่โดยปกติแล้ว ประโยชน์ของการลองทำมักจะมากกว่าความเป็นไปได้ของการล้มเหลวเสมอ ลองจินตนาการถึงผลลัพธ์ที่ดีและแย่ที่สุดที่อาจเกิดขึ้นได้ดู แล้วพิจารณาว่าสิ่งนั้นคุ้มค่าที่จะทำหรือไม่

 

9. ให้อภัยตัวเอง

          จงให้อภัยตัวเองเมื่อคุณทำพลาด อย่าลืมว่าทุก ๆ คนต้องเผชิญความล้มเหลวกันทั้งนั้น คนที่ประสบความสำเร็จจะเรียนรู้จากความผิดพลาดนั้น ตั้งต้นใหม่ และเริ่มภารกิจ 1 วินาทีลำดับถัดไปของพวกเขา

 

 

         HR องค์กรใด อยากบอกรักพนักงานแบบเกร๋ๆ เท่ๆ แนว HR ยุคใหม่ ที่ดูเเลแบบนั่งอยู่ในใจพนักงาน ลองติดต่อ Solution ปรึกษานักจิตวิทยาจาก Relationflip : Innovative Mental Healthcare Web Application ที่พร้อมช่วยพนักงานของคุณดีลกับปัญหาและเป็นที่ปรึกษาในทุกๆ เรื่องนะคะ Tel: 099-0026888 #InnovativeMentalHealthcare #MentalHealthcareService #Relationflip

Reference: https://www.psychologytoday.com/intl/blog/how-do-life/201801/9-time-management-and-procrastination-tips-smart-people