บทความน่ารู้

7 วิธีฟื้นฟูจากภาวะหมดไฟในการทำงาน

          เราต่างเคยมีวันหรือช่วงเวลาอันยาวนานที่ทำให้รู้สึกเหมือนปลาแซลมอนที่กำลังว่ายทวนน้ำ (อย่างเช่นช่วงล็อกดาวน์โควิดที่กินเวลาเป็นปี ๆ ) กล่าวคือเราทุ่มเทแรงกายแรงใจอย่างเต็มที่ เพียงเพื่อจะถูกโต้กลับด้วยสิ่งที่เหนือการควบคุม และที่เลวร้ายไปกว่านั้นคือการที่เราต่างรู้ดีว่าปลายทางที่กำลังรอปลาแซลมอนที่บากบั่นว่ายสวนกระแสน้ำคืออะไร

          แล้วถ้าหากงานของคุณเริ่มทำให้คุณรู้สึกเหมือนตกอยู่ในโชคชะตาเดียวกันกับปลาแซลมอนล่ะ? จะทำอย่างไรถ้าหากสิ่งที่เคยเป็นงานในฝันกลับกลายเป็นฝันร้ายที่คอยหลอกหลอน? เราเรียกอาการนี้ว่า “ภาวะหมดไฟ” (Burnout) ซึ่งประกอบด้วยความเหนื่อยล้าทางอารมณ์ (Emotional exhaustion) ความไม่มั่นใจในความสามารถของตัวเอง (Reduced accomplishment) และการมีทัศนคติด้านลบต่อผู้อื่น (Depersonalization) ซึ่งคือการที่คุณรู้สึกคับข้องใจและมีอารมณ์ถากถางต่อผู้ร่วมงานที่คุณควรเคารพและมีความรู้สึกที่ดีแก่กัน แม้ทั้ง 3 ปัจจัยนี้จะดูเป็นเรื่องที่แก้ไขได้ยาก แต่คุณสามารถจัดการกับมันได้หากปฏิบัติตาม 7 วิธีนี้

 

1. เริ่มต้นที่ร่างกายของคุณ

          แม้มันอาจจะฟังดูซ้ำซาก แต่อย่าลืมดูแลรักษาร่างกายของคุณ ลองนึกดูว่าครั้งสุดท้ายที่คุณรับประทานอาหารโดยไม่ได้จ้องหน้าจอ ไม่ได้ดู Netflix ก่อนเข้านอนคือเมื่อไหร่ คุณดื่มหลังจากเลิกงานมากแค่ไหน หรือเมื่อไหร่คือครั้งสุดท้ายที่คุณออกกำลังกาย ขอแนะนำให้ลองแทนที่เวลาที่คุณจ้องหน้าจอด้วยการพักผ่อนสายตา การเลือกสรรอาหารที่มีประโยชน์ และการออกกำลังกายให้เป็นกิจวัตร

 

2. ตามหาต้นตอของปัญหาให้เจอ

          Dr. Christina Maslach ผู้เชี่ยวชาญด้านภาวะหมดไฟในการทำงานจาก University of California ได้จำแนกปัญหาเกี่ยวกับงานออกเป็น 6 ประเภท ดังนี้

 

          - ภาระงาน: คุณรู้สึกว่าแม้จะเร่งทำงานที่มีอยู่เท่าไหร่ก็ไม่เคยทัน เหมือนพนักงานเงินเดือนในโฆษณาตลกร้ายที่โดนกองงานทับเป็นภูเขา

          - อำนาจการควบคุม: คุณรู้สึกเหมือนไม่มีสิทธิ์หรืออำนาจในการกำหนดหรือเปลี่ยนแปลงหน้าที่ กระบวนการทำงาน หรือกำหนดการส่งงาน

          - รางวัล: คุณรู้สึกเหมือนโดนเอาเปรียบด้วยจำนวนรางวัลที่น้อยเกินควร ไม่ว่าจะเป็นรางวัลที่เกี่ยวกับการเงิน เกียรติยศ หรือแม้แต่เสียงตอบรับทางด้านบวกสำหรับงานของคุณ

          - ความเป็นธรรม: สภาพแวดล้อมในการทำงานของคุณเต็มไปด้วยความปรปักษ์และไร้ความยุติธรรม

          ​​​​​​​- สังคมที่ทำงาน: ระหว่างเพื่อนร่วมงานยังขาดหายความสนิทสนม ความไว้วางใจ และการสนับสนุนซึ่งกันและกัน หรือในทางที่เลวร้ายไปกว่านั้นอาจมีแต่การแทงกันข้างหลังและความประสงค์ร้ายต่อกัน

          ​​​​​​​- คุณค่าที่ยึดถือ: งานของคุณขัดต่อคุณค่าที่คุณยึดถือ เช่น การต้องอนุมัติการปลดพนักงานสูงอายุที่ตั้งใจทำงานแต่ตามพนักงานรุ่นใหม่ไม่ทัน

 

เมื่อคุณรู้ว่าปัญหาใดที่กำลังดับไฟของคุณอยู่ ให้ลองทำตามวิธีต่อไปนี้

 

3. มองไปยังอนาคต

          ​​​​​​​ขั้วตรงข้ามของภาวะหมดไฟในการทำงานคือสิ่งที่เรียกว่าความรู้สึกผูกพันธ์ที่มีต่องาน ลองจินตนาการดูว่าอะไรคือปัจจัยที่จะทำให้คุณมีแรงจูงใจในการทำงานอย่างทุ่มเทและกระตือรือร้น เช่น สถานที่แบบใดที่เป็นสถานที่ทำงานอันยอดเยี่ยมในมโนภาพของคุณ หรือคุณจะรู้สึกอย่างไรหากคุณมีสิทธิ์ในการตัดสินใจเกี่ยวกับงานของคุณ แทนที่จะต้องทำตามการตัดสินใจของคนอื่น

 

4. จับคู่ปัญหาและการแก้ไข

          ​​​​​​​เมื่อคุณวิเคราะห์หาปัญหาที่มีอยู่ได้ครบถ้วน ลองดูว่าคุณจะแก้ไขมันอย่างไร สำหรับปัญหาที่เป็นเรื่องยากที่จะแก้ไข (เช่น การทำงานที่ขัดกับคุณค่าที่คุณยึดถือ หรือสังคมการทำงานที่ไม่เป็นตามหลักจรรยา) ให้ลองวิธีที่ 5 แต่ในบางครั้งการเปลี่ยนแปลงก็ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เช่น คุณอาจพิจารณาการย้ายทีม การจ้างผู้ช่วย หรือการทำงานที่บ้านสัปดาห์ละครั้งเป็นทางเลือกใหม่ ๆ

 

5. เมื่อการแก้ไขงานในปัจจุบันเป็นไปได้ยาก ก็ถึงเวลาของการตัดสินใจครั้งใหญ่

          ​​​​​​​ถ้ายังไม่สามารถแก้ไขได้แม้จะลองหลากหลายวิธีแล้วก็ตาม มันอาจถึงเวลาที่คุณจะต้องมองหาตำแหน่งใหม่ ๆ ในที่ใหม่ ๆ หรือพิจารณาว่ายังทันไหมที่จะเริ่มต้นเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ

 

6. แบ่งเบาภาระงานของตัวเอง

          ​​​​​​​การแบ่งเบาภาระงานในที่นี้ ไม่ใช่การโยนงานส่วนที่คุณไม่ชอบไปให้พนักงานฝึกงาน แต่หมายถึงการต่อต้านความรู้สึกของตัวเองที่ว่า “คุณเป็นคนเดียวที่สามารถรับผิดชอบงานนี้”

          ​​​​​​​อาจเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจสำหรับใครหลายคน แต่ผู้ที่มีความรับผิดชอบสูงเกินควร (เช่น ผู้ที่รู้สึกว่าจะต้องลงมือทำเองหากต้องการให้สิ่งใดสำเร็จลุล่วง) มีความเสี่ยงสูงที่จะเผชิญภาวะหมดไฟในการทำงาน แม้บางครั้งความคิดที่ว่าคุณเป็นคนเดียวที่สามารถทำงานนั้นได้จะเป็นเรื่องจริง แต่ในบางครั้งก็ยังมีผู้ร่วมงานอีกมากที่มีความสามารถในการช่วยแบ่งเบาภาระงานเช่นกัน หากคุณเริ่มกังขาว่าคุณเองก็พบปัญหานี้ ลองพิสูจน์ด้วยการแบ่งเบาภาระและรอดูผลลัพธ์ของมัน

 

7. ใช้เวลาของคุณไปกับกิจกรรมที่หลากหลาย

          ​​​​​​​เมื่อเราอยู่ในสภาวะหมดไฟ เรามักจะใช้ชีวิตแบบเดิมไปเรื่อย ๆ อย่างการเอาแต่โหมงานและออกกำลังกายเมื่อเสร็จงาน ซึ่งแม้จะดูเหมือนเป็นการดูแลตัวเองแต่ก็เป็นเพียงอีกหน้าที่หนึ่งเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วคุณควรที่จะทำในสิ่งที่คุณอยากทำ ไม่ใช่เพิ่มสิ่งที่คุณควรจะทำลงในตารางชีวิต ลองถามตัวเองดูว่าอะไรคือสิ่งที่คุณเคยชอบทำ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นการตามล่าของอร่อย รดน้ำต้นไม้ หรือเย็บปักถักร้อย และอย่าลืมที่จะให้เวลาพักผ่อนกับตัวเอง เช่น การหยุดพักสักสองสามวันหลังทำงานชิ้นใหญ่สำเร็จ ออกไปพบปะมิตรสหายและทำสิ่งต่าง ๆ ร่วมกัน หรือใช้เวลาไปกับครอบครัวและงานอดิเรกในช่วงวันหยุด

          ​​​​​​​ดังนั้น หากคุณพบว่าตัวเองกำลังกรอกรหัสผ่านของคอมพิวเตอร์ที่ทำงานลงบนคอมพิวเตอร์ส่วนตัวของคุณโดยไม่รู้ตัวเมื่อไหร่ อย่าลืมนำ 7 วิธีข้างต้นไปใช้เพื่อจุดไฟของคุณขึ้นมาอีกครั้ง

 

 

         HR องค์กรใด อยากบอกรักพนักงานแบบเกร๋ๆ เท่ๆ แนว HR ยุคใหม่ ที่ดูเเลแบบนั่งอยู่ในใจพนักงาน ลองติดต่อ Solution ปรึกษานักจิตวิทยาจาก Relationflip : Innovative Mental Healthcare Web Application ที่พร้อมช่วยพนักงานของคุณดีลกับปัญหาและเป็นที่ปรึกษาในทุกๆ เรื่องนะคะ Tel: 099-0026888 #InnovativeMentalHealthcare #MentalHealthcareService #Relationflip

Reference: https://www.psychologytoday.com/intl/blog/how-to-be-yourself/202105/7-ways-to-recover-from-burnout