บทความน่ารู้

ไม่ยากถ้าอยากหลุดพ้นจากเงื้อมมือของอาการเสพติดความสำเร็จ

          อาการเสพติดความสำเร็จเป็นปัญหาซับซ้อนที่เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ และยังส่งผลกระทบหลากหลายรูปแบบ การเข้าใจธรรมชาติของอาการจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยพัฒนากลยุทธ์เพื่อพิชิตปัญหานี้

 

อาการเสพติดความสำเร็จคืออะไร?

          อาการเสพติดความสำเร็จ หรือที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายว่า “โรคบ้างาน” (workaholism) คือการรู้สึกว่าความสำเร็จและการบรรลุเป้าหมายเป็นสิ่งที่จำเป็นจนขาดไม่ได้ รวมถึงการไล่ตามเป้าหมายอย่างไม่หยุดยั้งโดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่อาจตามมา ผู้ที่มีอาการบ้างานมักถูกขับเคลื่อนด้วยความรู้สึกจำเป็นที่จะต้องพิสูจน์ตนเองและอาการกลัวความล้มเหลว หรืออาจถูกขับเคลื่อนด้วยปัจจัยภายนอก (เช่น เงินตอบแทน ยศตำแหน่ง และการได้รับการยอมรับ) และเป้าหมายซึ่งเอาประโยชน์ของผู้อื่นเป็นที่ตั้ง (เช่น จำนวนของคนที่จะช่วยเอาไว้ได้ หรือจำนวนของลูกน้องที่จะสามารถผ่านการประเมินได้)

 

สาเหตุของอาการเสพติดความสำเร็จ

          มีหลายปัจจัยที่สามารถนำไปสู่การพัฒนาของอาการเสพติดความสำเร็จได้ อาทิเช่น

          - ประสบการณ์วัยเด็ก: เด็ก ๆ ที่ได้รับการชื่นชมเรื่องความสำเร็จและได้รับรางวัลเมื่อทำงานเป็นอย่างหนักอาจมีโอกาสที่จะพัฒนาอาการเสพติดความสำเร็จ

          - ความกดดันจากผู้ปกครอง: ผู้ปกครองที่กดดันบุตรหลานเพื่อผลักดันสู่ความเป็นเลิศก็อาจมีส่วนในการพัฒนาอาการเสพติดความสำเร็จในตัวบุตรหลาน

          - คุณค่าที่ยึดถือในวัฒนธรรม: บางวัฒนธรรมให้ความสำคัญกับการประสบความสำเร็จและการบรรลุเป้าหมายเป็นอย่างมาก จึงอาจสร้างความกดดันให้แก่ผู้คนในสังคม

          - ลักษณะนิสัย: คนบางประเภทอาจมีทัศนคติทางจิตใจ (Mindset) ที่ส่งผลให้ยึดมั่นในความสำเร็จมากกว่าผู้อื่น ซึ่งอาจเกิดได้จากทั้งพันธุกรรม บุคลิกลักษณะ หรือสภาวะจิตใจ

 

ผลกระทบ

          อาการเสพติดความสำเร็จอาจส่งผลกระทบเชิงลบได้หลายรูปแบบ อาทิเช่น

          - ความเครียดและภาวะหมดไฟในการทำงาน: ผู้ที่มีอาการเสพติดความสำเร็จมักมีความเครียดมหาศาล และอาจตกอยู่ในภาวะหมดไฟในการทำงาน (Burnout) ซึ่งส่งผลให้เหนื่อยล้าทั้งกายและใจ

          - ปัญหาด้านความสัมพันธ์: อาการเสพติดความสำเร็จสามารถแทรกแซงความสัมพันธ์กับครอบครัวและมิตรสหายได้ เนื่องจากผู้ที่มีอาการนี้มีโอกาสละเลยคนที่พวกเขารักเพื่อจดจ่อกับงานหรือเป้าหมายของพวกเขา

          - ปัญหาด้านสุขภาพ: อาการเสพติดความสำเร็จสามารถนำไปสู่ปัญหาสุขภาพมากมาย เช่น ภาวะวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า และภาวะอ่อนเพลียเรื้อรัง

          - ความทุกข์: แม้การโหมงานจะนำไปสู่ความสำเร็จ แต่ก็ไม่ได้นำไปสู่ความสุขเสมอไป เพราะมันอาจทำให้พวกเขาไม่เคยพึงพอใจกับความสำเร็จของตนและพยายามมองหาความท้าทายใหม่ ๆ อยู่เสมอ

          - ประเด็นด้านคุณธรรม: ทัศนคติทางจิตใจที่ “ต้องชนะเท่านั้น” อาจนำไปสู่การใช้ทางลัดที่ทำให้เสียความซื่อสัตย์ไป

 

วิธีพิชิตอาการเสพติดความสำเร็จ

          การเอาชนะอาการเสพติดความสำเร็จจะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็สามารถเป็นไปได้ด้วยเคล็ดลับเหล่านี้

          - รู้ว่าคุณค่าที่ตัวเองยึดถือ (value) คืออะไร: ลองนึกว่าอะไรคือสิ่งที่สำคัญในชีวิต และเริ่มตัดสินใจโดยยึดสิ่งนั้นเป็นหลักสำคัญ

          - ตั้งเป้าหมายที่สมเหตุสมผล: การตั้งเป้าหมายที่ทะเยอทะยานเกินไปอาจเป็นการขุดหลุมฝังตัวเองได้

          - เฉลิมฉลองความสำเร็จของตัวเอง: ใช้เวลาเพื่อยินดีกับความสำเร็จของตัวเอง แม้ว่าสิ่งนั้นจะเป็นเพียงก้าวเล็ก ๆ ก้าวหนึ่งก็ตาม

          - ดูแลตัวเองให้ดี: อย่าลืมนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

          - ใช้เวลากับคนที่รัก: หาเวลาเพื่อใช้กับคนสำคัญในชีวิต

          - จดจ่อไปที่การเดินทาง ไม่ใช่ที่จุดหมายปลายทาง: เพราะความสุขไม่ได้อยู่ที่จุดหมายแต่อยู่ระหว่างทาง จึงควรสนุกไปกับกระบวนการบรรลุเป้าหมายมากกว่าเอาแต่จดจ่อกับผลลัพธ์ที่ปลายทาง

          อีกเรื่องที่ควรจำให้ขึ้นใจคือ “การบรรลุเป้าหมายไม่ใช่มาตรวัดเดียวของความสำเร็จ” เพราะยังมีอีกหลายสิ่งที่สำคัญในชีวิต เช่น ความสัมพันธ์ สุขภาพ และความสุข เมื่อให้ความสนใจกับสิ่งเหล่านี้ ความสุขและความอิ่มเอิบใจก็จะตามมาโดยไม่จำเป็นต้องบรรลุทุกเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้เลย

          แม้การเอาชนะอาการเสพติดความสำเร็จจะเป็นกระบวนการที่ต้องใช้ทั้งเวลา ความมานะ และความมุ่งมั่น แต่ชีวิตอันสมดุลและความรู้สึกเติมเต็มที่รออยู่ข้างหน้าก็ทำให้คุ้มที่จะลงมือทำ

 

 

         HR องค์กรใด อยากบอกรักพนักงานแบบเกร๋ๆ เท่ๆ แนว HR ยุคใหม่ ที่ดูเเลแบบนั่งอยู่ในใจพนักงาน ลองติดต่อ Solution ปรึกษานักจิตวิทยาจาก Relationflip : Innovative Mental Healthcare Web Application ที่พร้อมช่วยพนักงานของคุณดีลกับปัญหาและเป็นที่ปรึกษาในทุกๆ เรื่องนะคะ Tel: 099-0026888 #InnovativeMentalHealthcare #MentalHealthcareService #Relationflip

Reference: https://www.psychologytoday.com/intl/blog/ask-the-coach/202310/overcoming-the-grip-of-compulsive-achievement