บทความน่ารู้

เคล็ดลับการเสริมสร้างกรอบความคิดแบบพัฒนาได้

          หากคุณต้องการมีกรอบความคิดแบบพัฒนาได้ (Growth mindset) แน่นอนว่ามีหลากหลายวิธีเพื่อทำเป้าหมายนั้นให้สำเร็จ แต่ในความเป็นจริงแล้ว สิ่งสำคัญที่ควรตระหนักคือไม่มีใครที่มีกรอบความคิดแบบพัฒนาได้หรือแบบยึดติดล้วน ๆ เพราะเรามักจะอยู่ตรงกลางระหว่างนั้น และในทางเดียวกันก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะบรรลุทุกเป้าหมายตามต้องการ เพราะแม้การพยายามอย่างหนัก การอุทิศตน และการมีทัศนคติที่เหมาะสมจะช่วยให้ประสบความสำเร็จ แต่เราทุกคนต่างมีข้อจำกัดบางอย่างเป็นของตัวเอง และอย่าลืมว่ายังมีปัจจัยอื่น ๆ อีกมากมายนอกจากกรอบความคิดที่ชี้วัดผลลัพธ์ที่ดี        

          อย่างไรก็ตาม การมีตัวช่วยในการพัฒนาตนเองไม่เคยเป็นเรื่องที่แย่ และ 10 เคล็ดลับต่อไปนี้จะเป็นตัวช่วยที่ดีในการพัฒนากรอบความคิดแบบพัฒนาได้:

           1. ตรวจสอบกรอบความคิดของตัวเอง

          ตรวจสอบกรอบความคิดของตัวเองด้วยการพิจารณาว่าตัวเองมีวิธีเข้าหาความท้าทายต่าง ๆ ในชีวิตอย่างไร เช่น ลองถามตัวเองว่าเคยพูดว่า “ฉันเป็นคนที่ชอบอยู่กับผู้คน” หรือ “ฉันเรียนรู้ที่จะทำงานร่วมกันผู้อื่นเป็นอย่างดี” การถามคำถามเหล่านี้จะช่วยให้คุณตรวจสอบกรอบความคิดของตัวเองว่าเป็นแบบพัฒนาได้หรือแบบยึดติดมากกว่า ซึ่งการตระหนักรู้ในตนเองถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญของการสร้างความเปลี่ยนแปลง

          2. พิจารณาพัฒนาการของตัวเอง

          ลองคิดเกี่ยวกับสิ่งที่คุณทำได้ดีกว่าที่เคยในอดีต อะไรคือสิ่งที่คุณเคยคิดว่ายาก? ทำไมมันถึงรู้สึกง่ายลงแล้ว? และคุณทำให้ความเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร?

          ความคิดเหล่านี้จะช่วยจุดประกายให้คุณคิดเกี่ยวกับเวลาและความพยายามที่คุณได้ใช่เพื่อพัฒนาในด้านนั้น ๆ ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ของกรอบความคิดแบบพัฒนาได้

          3. วิเคราะห์ความสำเร็จของผู้อื่น

          ลองนึกถึงสิ่งที่คุณเคยเห็นผู้อื่นลงมือทำแม้แทบไม่มีทางเป็นไปได้ หลังจากนั้นลองคิดดูว่าพวกเขาสามารถทำสำเร็จได้อย่างไร และเหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการพัฒนาความสามารถของพวกเขาอย่างไรบ้าง

          4. มองหาคำวิจารณ์

          ไม่ว่าคุณจะประสบความสำเร็จในงานหรือไม่ การมองหาคำวิจารณ์จากผู้อื่นก็เป็นวิธีที่ดีในการสร้างกรอบความคิดแบบพัฒนาได้ เพราะพวกเขาอาจทำให้คุณได้รู้ถึงด้านที่คุณพัฒนาขึ้นหรือด้านที่คุณยังต้องพัฒนา ซึ่งจะช่วยกำหนดทิศการตั้งเป้าหมายเพื่อการพัฒนาตัวเองในลำดับต่อไป

          5. ควบคุมและใช้ประโยชน์จากพลังแห่งคำว่า “ยัง”

          คำว่า “ยัง” เกี่ยวข้องกับการตระหนักได้ว่าจะมีทักษะหรือเรื่องบางเรื่องที่ “ยัง” ไม่ถนัด อย่างไรก็ตาม คุณจะสามารถพัฒนาทักษะหรือเรื่องเหล่านั้นได้ในที่สุดผ่านการฝึกฝนและความอดทน

          อาจกล่าวได้ว่าการพัฒนากรอบความคิดแบบพัฒนาได้ คือ การเข้าใจว่าจุดอ่อนของคุณคือจุดแข็งที่คุณ “ยัง” ไม่ได้พัฒนาก็เท่านั้น

          6. เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ

          ลองทำกิจกรรมใหม่ ๆ และท้าทายตัวเองในการเรียนรู้สิ่งที่คุณยังไม่ถนัด เช่น การเรียนภาษาใหม่ ๆ เครื่องดนตรีใหม่ ๆ หรือเรียนรู้เศรษฐศาสตร์พื้นฐาน เป็นต้น

          เมื่อการก้าวออกจากพื้นที่สบายใจ (Comfort zone) กลายเป็นเรื่องคุ้นเคย คุณก็จะสามารถพัฒนากรอบความคิดแบบพัฒนาได้และเปิดใจให้กับการเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ มากขึ้น

          7. ไม่กลัวที่จะทำผิดพลาด

          อย่าลืมว่าไม่มีทางที่คุณจะทำทุกสิ่งได้ตั้งแต่ครั้งแรกทุกครั้ง เพราะฉะนั้นจงปล่อยให้ตัวเองทำผิดพลาดและเรียนรู้จากประสบการณ์นั้น และแทนที่จะคิดว่าข้อผิดพลาดคือหลักฐานของความโง่เขลา ให้คิดว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ เพราะความผิดพลาดคือโอกาสในการค้นพบสิ่งที่อาจเป็นจุดอ่อนของคุณ หรืออาจเรียกว่าด้านที่คุณสามารถตั้งใจพัฒนานั่นเอง

          8. ใจดีกับตัวเอง

          แทนที่จะตำหนิติเตียนตัวเองเพราะความผิดพลาด ลองคิดว่าคุณจะปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างไรหากเขาทำผิดเช่นเดียวกัน สมมติว่ามีคนล้มเหลวในการทำงานหนึ่งที่คุณถนัด คุณจะกล่าวโทษเขาว่าไร้ประโยชน์หรือให้กำลังใจว่าพวกเขาสามารถเรียนรู้เพิ่มเติมได้?

          9. เรียนรู้จากตัวอย่าง

          การเรียนรู้จากผู้ที่มีกรอบความคิดแบบพัฒนาได้เป็นวิธีที่ดี ลองพิจารณาในสิ่งที่พวกเขาทำ วิธีการที่พวกเขาจัดการความท้าทายต่าง ๆ ในชีวิต และลองดูว่าคุณสามารถใช้กลยุทธ์ที่คล้ายคลึงกันได้อย่างไรบ้าง

          10. ตั้งเป้าหมายที่ทำได้จริง

          ตามที่กล่าวไปข้างต้นว่าตัวกำหนดความสำเร็จนั้นมีมากมาย ทั้งลักษณะนิสัย สถานการณ์ และปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผล อย่างไรก็ตาม การตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนและมีความท้าทายที่กระตุ้นแรงจูงใจระหว่างทางจะช่วยนำทางคุณสู่ความสำเร็จ

 

         HR องค์กรใด อยากบอกรักพนักงานแบบเกร๋ๆ เท่ๆ แนว HR ยุคใหม่ ที่ดูเเลแบบนั่งอยู่ในใจพนักงาน ลองติดต่อ Solution ปรึกษานักจิตวิทยาจาก Relationflip : Innovative Mental Healthcare Web Application ที่พร้อมช่วยพนักงานของคุณดีลกับปัญหาและเป็นที่ปรึกษาในทุกๆ เรื่องนะคะ Tel: 099-0026888 #InnovativeMentalHealthcare #MentalHealthcareService #Relationflip

Reference: https://www.futurelearn.com/info/blog/general/develop-growth-mindset