บทความน่ารู้

ทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ในบริบทที่ทำงาน

          ทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ (Maslow’s Hierarchy of Needs) กล่าวถึงความต้องการของมนุษย์ทั้ง 5 ลำดับขั้น ซึ่งเมื่อสามารถเติมเต็มความต้องการในลำดับขั้นพื้นฐานได้ ก็จะสามารถขยับขึ้นไปเติมเต็มความต้องการลำดับขั้นที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ จนไปถึงขั้นสุดท้าย ทฤษฎีนี้มักถูกนำมาประยุกต์ใช้ในบริบทที่ทำงานในฐานะของเครื่องมือค้นหาวิธีกระตุ้นแรงจูงใจของบุคลากรและเพื่อช่วยให้ความต้องการของพวกเขาได้รับการตอบสนอง ซึ่งการเข้าใจแนวคิดทางจิตวิทยานี้จะช่วยในการพิจารณาว่าความต้องการของเราได้รับการตอบสนองในที่ทำงานหรือไม่ และเราสามารถทำอย่างไรเพื่อที่จะตอบสนองความต้องการของทีมได้ดีขึ้น


          ทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์คืออะไร?

          ทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ คือทฤษฎีแรงจูงใจทางจิตวิทยาซึ่งถูกแบ่งเป็นลำดับขั้น ได้แก่ ความต้องการด้านกายภาพ (Physiological), ความต้องการความมั่นคงปลอดภัย (Safety), ความต้องการความรักและความเป็นเจ้าของ (Love and Belonging), ความต้องการการได้รับการยกย่องนับถือในตนเอง (Esteem) และ ความต้องการบรรลุความหมายและความสมบูรณ์ของชีวิต (Self-Actualization) 

          แต่ละลำดับขั้นคือความต้องการที่มนุษย์สามารถเติมเต็ม โดยมักจะถูกอธิบายในรูปแบบของพีระมิดซึ่งแสดงให้เห็นถึงข้อบังคับที่จะต้องเติมเต็มความต้องการลำดับล่างก่อนเคลื่อนไปยังลำดับที่สูงขึ้น เพราะถ้ายังไม่สามารถเติมเต็มความต้องการลำดับล่าง ก็จะไม่สามารถก้าวหน้าต่อไปได้เพราะขาดแรงจูงใจนั่นเอง

 

          ลำดับทั้ง 5 ของทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์

          เมื่อนำทฤษฎีนี้มาใช้ในบริบทของที่ทำงาน เราจะต้องทำความเข้าใจความต้องการลำดับขึ้นต่าง ๆ และผลกระทบที่มีต่อแรงจูงใจ โดยแต่ละคนก็จะมีความต้องการในลำดับขั้นที่แตกต่างกันไป เพราะฉะนั้นถ้าหากเติมเต็มแต่ละลำดับขั้นได้ ก็จะส่งผลให้บุคลากรรู้สึกถึงความสมบูรณ์ในชีวิตมากขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มแรงจูงใจและการคิดอย่างสร้างสรรค์ในที่สุด

1. ความต้องการด้านกายภาพ (Physiological)

          ความต้องการด้านกายภาพคือความต้องการของมนุษย์ขั้นพื้นฐานที่สุด บุคลากรจะรู้สึกว่าตนได้รับความต้องการขั้นพื้นฐานเมื่อพวกเขาสามารถเข้าถึงการบริการและโอกาสในที่ทำงาน เช่น สิทธ์ในการใช้ห้องสุขา สิทธิ์ในการได้รับน้ำดื่ม การพักเที่ยงเพื่อรับประทานอาหาร และการทำงานในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและสบายใจ เมื่อนำความต้องการนี้มาพิจารณาในบริบทการทำงาน หนึ่งในความต้องการด้านกายภาพที่สำคัญก็คือรายได้ที่มั่นคง เพื่อเลี้ยงชีพตนเอง และเพื่อค่าใช้จ่ายของปัจจัย 4 และสิ่งจำเป็นอื่น ๆ

 

2. ความต้องการความมั่นคงปลอดภัย (Safety)

          ความมั่นคงปลอดภัยเป็นอีกหนึ่งความต้องการสำคัญที่สามารถส่งผลกระทบต่อความพึงพอใจโดยรวมในที่ทำงาน เป็นเรื่องปกติที่เราจะกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของตัวเราและคนที่เรารัก เช่น หนึ่งในสิ่งที่สำคัญเป็นอันดับต้น ๆ ในชีวิตของเราอาจะเป็นการจัดหาที่พักอาศัยที่ปลอดภัยให้แก่ครอบครัว ซึ่งเป็นสาเหตุที่เราทำงานหนักทุกวันนี้ อย่างไรก็ตาม การรู้สึกว่าความมั่นคงปลอดภัยของเราถูกเห็นค่าและให้ความสำคัญในที่ทำงานก็เป็นเรื่องที่สำคัญ

          สิ่งที่เราสมควรได้รับคือความรู้สึกว่าทรัพยากรและทรัพย์สินส่วนบุคคลอยู่ในความปลอดภัยและได้รับความคุ้มครอง การสร้างสถานที่ทำงานที่ให้ความรู้สึกปลอดภัยอาจรวมไปถึงการเลือกเฟอร์นิเจอร์ที่รองรับสรีระของผู้ใช้งานและลดความเสี่ยงของอาการบาดเจ็บทางร่างกาย รวมไปถึงการรักษาความปลอดภัยของตึกที่ทำงานอย่างหนาแน่นและเคร่งครัดเพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลอันตรายเข้ามาย่างกราย

          อีกมุมหนึ่งของความปลอดภัยในที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการรู้สึกปลอดภัยและได้รับการสนับสนุน เพราะถ้าหากเราต้องมานั่งพะวงว่าตัวเองจะเป็นหนึ่งในผู้ที่ถูกเลิกจ้างหรือถูกไล่ออกเพราะการตัดงบประมาณ การมีแรงจูงใจเพื่อขึ้นไปยังความต้องการลำดับขั้นที่สูงขึ้นและการทำผลงานให้ออกมาดีที่สุดอาจกลายเป็นเรื่องที่ยาก นอกจากนี้ อนาคตที่ไม่แน่นอนยังทำให้ขวัญกำลังใจในที่ทำงานลดลงอีกด้วย

 

3. ความต้องการความรักและความเป็นเจ้าของ (Love and Belonging)

          เมื่อเทียบกับลำดับอื่น ๆ แล้ว ความต้องการลำดับนี้มีความแตกต่างระหว่างบริบทในที่ทำงานและในด้านอื่น ๆ ของชีวิตอยู่เล็กน้อย โดยถ้าเราไม่รู้สึกถึงความรักและความเป็นเจ้าของ เราก็อาจจะไม่รู้สึกผูกพันกับงานหรือองค์กร หรืออาจไม่ค่อยมีแรงจูงใจที่จะประสบความสำเร็จสักเท่าไหร่

          การสร้างความสัมพันธ์ในที่ทำงานไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเสมอไป แต่องค์กรที่จัดกิจกรรมทางสังคมและให้โอกาสบุคลากรในการสานสัมพันธ์นอกที่ทำงานมักจะมีอัตราความผูกพันของบุคลากรกับงานที่สูงกว่าองค์กรที่ไม่ใส่ใจในสมดุลระหว่างงานกับชีวิต เมื่อเรารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของที่ทำงานและเข้ากันได้กับทีมของตัวเอง เราก็จะรู้สึกมีแรงจูงในการทำงานหนักและการบรรลุเป้าหมายได้ง่ายขึ้นนั่นเอง

 

4. ความต้องการการได้รับการยกย่องนับถือในตนเอง (Esteem)

          ความต้องการลำดับขั้นนี้คือความเชื่อที่ว่า เราเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่และแรงสนับสนุนของเราก็ได้รับการยอมรับ สำหรับในที่ทำงานแล้ว การรู้สึกว่าตัวเองกำลังเติบโต พัฒนาไปอีกขั้น บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้  และคนรอบข้างรับรู้ถึงความสำเร็จนั้นถือเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะเมื่อเรามีความมั่นใจในตัวเองและความสามารถของตัวเอง รวมไปถึงได้รับข้อเสนอแนะเชิงบวกและกำลังใจ เราก็จะยิ่งมีโอกาสในการประสบความสำเร็จ

 

5. ความต้องการบรรลุความหมายและความสมบูรณ์ของชีวิต (Self-Actualization)

          ความต้องการขั้นสูงสุดของทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ คือ ความต้องการบรรลุความหมายและความสมบูรณ์ของชีวิต ซึ่งหมายถึงการพัฒนาศักยภาพในการทำงานถึงขั้นสูงสุด เพราะในท้ายที่สุดแล้ว เราอาจต้องการรู้สึกว่าเรากำลังทำงานอย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ในขอบเขตของตำแหน่งของตัวเอง ซึ่งความปรารถนานี้จะช่วยให้เกิดแรงจูงใจในการเดินหน้าในเส้นทางอาชีพและประสบความสำเร็จ บุคลากรผู้บรรลุความต้องการขั้นสูงสุดจะรู้สึกเปี่ยมล้นด้วยพลังใจและได้รับความไว้วางใจ ซึ่งส่งเสริมให้เกิดการเติบโตของบุคลากรและความผูกพันกับงานนั่นเอง

          หนึ่งในกุญแจสำคัญที่ทำให้มั่นใจได้ว่าความต้องการบรรลุความหมายและความสมบูรณ์ของชีวิตจะได้รับการตอบสนอง คือการให้โอกาสบุคลากรประสบความสำเร็จ ที่ปรึกษาควรใส่ใจในทักษะและความสามารถของพนักงาน และช่วยหาวิธีก้าวหน้าในหน้าที่การงานโดยไม่ผลักพวกเขาไปยังตำแหน่งที่ไม่เหมาะสม โดยพนักงานควรที่จะรู้สึกท้าทายในการทำงาน ไม่ใช่มีงานล้นมือจนรู้สึกท่วมท้น

 

การนำทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ไปปฏิบัติจริง

          เมื่อลองนำทฤษฎีของมาสโลว์ไปใช้ในชีวิตการทำงาน เราอาจพบจุดที่ต้องการการพัฒนาได้ เพราะแม้ผู้ว่าจ้างจะสามารถเติมเต็มความต้องการในหลาย ๆ ด้าน แต่เราก็ควรตระหนักว่าความต้องการต่าง ๆ ของเรากระทบความสำเร็จโดยรวมในหน้าที่การงานของเราอย่างไรบ้าง ยกตัวอย่างเช่ร ถ้าเราประสบปัญหาในการรับมือการถูกปฏิเสธ เส้นทางอาชีพฝ่ายขายอาจทำให้เราตอบสนองความต้องการของตัวเองได้ยากกว่า เป็นต้น

ความต้องการลำดับขั้นสูงสุด

          เพื่อที่จะสามารถบรรลุความต้องการขั้นสูงสุดได้ เราจะต้องเข้าใจในความสามารถ ทักษะ และสิ่งที่เราสามารถควบคุมรับมือได้ นอกจากนี้ ความสามารถในการเข้าใจความต้องการของตัวเองและทำให้ความต้องการเหล่านั้นได้รับการเติมเต็มจะช่วยเพิ่มโอกาสในการประสบความสำเร็จ เมื่อเรารู้สึกปลอดภัย ได้รับการสนับสนุน รู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง และรู้สึกถึงความสมบูรณ์ของชีวิต ทัศนคติของเราอาจมีอิทธิพลต่อเพื่อนร่วมงานได้เช่นกัน ซึ่งเมื่อความผูกพันกับงานและแรงจูงใจในการทำงานมักเป็นทัศนคติที่บ่มเพาะขึ้นในทีม ทีมที่ประกอบไปด้วยสมาชิกผู้รู้สึกว่าความต้องการของตนได้รับการเติมเต็มจึงสามารถสร้างวัฒนธรรมการทำงานที่ดีและมีความผูกพันกับงานและองค์กรได้นั่นเอง


          HR องค์กรใด อยากบอกรักพนักงานแบบเกร๋ๆ เท่ๆ แนว HR ยุคใหม่ ที่ดูเเลแบบนั่งอยู่ในใจพนักงาน ลองติดต่อ Solution ปรึกษานักจิตวิทยาจาก Relationflip : Innovative Mental Healthcare Web Application ที่พร้อมช่วยพนักงานของคุณดีลกับปัญหาและเป็นที่ปรึกษาในทุกๆ เรื่องนะคะ Tel: 099-0026888 #InnovativeMentalHealthcare #MentalHealthcareService #Relationflip

Reference: https://www.indeed.com/career-advice/career-development/maslows-hierarchy-of-needs