บทความน่ารู้
7 ตัวอย่างสำคัญของทักษะการทำงานเป็นทีม
ทักษะการทำงานเป็นทีม (Teamwork Skills) คือทักษะสำคัญที่จะช่วยให้คุณประสบความสำเร็จในด้านการทำงาน ไม่ว่าอาชีพหรือตำแหน่งของคุณจะเป็นอะไรก็ตาม โดยการทำงานร่วมกับลูกค้า เพื่อนร่วมงาน ผู้จัดการ หรือผู้อื่นในที่ทำงานเป็นอย่างดีจะสามารถช่วยให้คุณทำงานจนสำเร็จได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังช่วยสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่เบิกบานใจให้กับตนเองและผู้อื่นไปพร้อมกัน จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่องค์กรที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของทักษะการทำงานเป็นทีมมักจะเป็นที่ทำงานที่ดีและมีประสิทธิภาพสูง
บทความนี้จะกล่าวถึงทักษะการทำงานเป็นทีม วิธีการพัฒนาทักษะและ soft skills อื่น ๆ ที่จะช่วยให้คุณเป็นสมาชิกทีมที่ดีได้
ทักษะการทำงานเป็นทีมคืออะไร?
ทักษะการทำงานเป็นทีม คือ ทักษะที่ช่วยให้คุณสามารถทำงานกับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี ทั้งในด้านของการสื่อสาร การทำโปรเจ็กต์ การเข้าประชุม หรือการร่วมมือกันในรูปแบบอื่น ๆ ทักษะการทำงานเป็นทีมมีความเชื่อมโยงกับความสามารถในการสื่อสารที่ดี การฟังเชิงรุก (Active listening) ความรับผิดชอบ และความซื่อสัตย์
เพราะเหตุใดทักษะการทำงานเป็นทีมจึงมีความสำคัญ?
เหตุผลเป็นเพราะไม่ว่าจะทำอาชีพใด คุณก็จะต้องทำงานร่วมกับผู้คนในทุกสายงานและทุกระดับ การวางตัวอย่างมีความรับผิดชอบ มีความเห็นอกเห็นใจ และมีประสิทธิภาพจะช่วยให้คุณบรรลุเป้าหมายทางด้านการงาน ปรับเรซูเม่ของคุณให้ดียิ่งขึ้น และส่งผลดีต่อองค์กร นอกจากนี้ยังช่วยให้คุณสามารถสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น ซึ่งจะนำไปสู่ความสัมพันธ์ทางด้านการทำงานที่ลึกซึ้งขึ้น เครือข่ายทางสังคมใหม่ ๆ และโอกาสใหม่ ๆ ในที่ทำงาน เป็นต้น
ตัวอย่างของทักษะการทำงานเป็นทีม
ทักษะการทำงานเป็นทีมถูกประกอบขึ้นมาด้วย soft skills มากมายที่คุณสามารถพัฒนาเมื่อเวลาผ่านไป ต่อไปนี้จะเป็นคุณสมบัติตัวอย่าง 7 ประการที่จะช่วยพัฒนาทักษะการทำงานเป็นทีมของคุณ
1. การสื่อสาร
ความสามารถในการสื่อสารอย่างชัดเจนและมีประสิทธิภาพคือทักษะการทำงานร่วมกันที่สำคัญ เมื่อทำงานกับผู้อื่น คุณควรที่จะแบ่งปันความคิดเห็นและข้อมูลหลักที่สอดคล้องกับงานนั้น ซึ่งทักษะการสื่อสารมีหลายรูปแบบ ซึ่งรวมไปถึงวัจนภาษาและอวัจนภาษาด้วย
2. ความรับผิดชอบ
ภายในการทำงานเป็นทีมที่มีความเปลี่ยนแปลงเข้ามาอยู่เรื่อย ๆ ทุกฝ่ายที่ทำงานร่วมกันควรเข้าใจงานที่ตัวเองรับผิดชอบและพยายามทำงานนั้นให้เสร็จภายในเวลาที่กำหนด และรักษามาตรฐานงานที่คาดหวังไว้ เมื่อทั้งทีมสามารถทำงานได้อย่างเหมาะสมด้วยการรับผิดชอบส่วนงานของตัวเอง พวกเขาก็จะสามารถทำงานร่วมกันเพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกัน
3. ความซื่อสัตย์
การฝึกฝนตัวเองให้มีความซื่อสัตย์และความโปร่งใส่ในที่ทำงานอาจหมายถึงการรับมือแก้ไขความขัดแย้งโดยการอธิบานว่าทำไมคุณถึงไม่อาจทำงานเสร็จตรงตามกำหนดหรือแบ่งปันความคืบหน้าที่ยากจะเปิดเผย หากไม่มีความโปร่งใสก็จะเป็นการยากในการสร้างความไว้วางใจระหว่างกันในทีมและการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพในท้ายที่สุด
4. การฟังเชิงรุก (Active Listening)
เช่นเดียวกับการสื่อสาร ทักษะการฟังเชิงรุกสามารถช่วยให้ทีมเข้าใจและไว้วางใจกันและกัน การฟังเชิงรุกคือการใช้ความพยายามในการจดจ่อไปยังบุคคลหนึ่งอย่างเต็มที่เมื่อเขากำลังแบ่งปันความคิด ความคิดเห็น หรือความรุ้สึก คุณสามารถถามคำถามต่อจากนั้นเพื่อเข้าใจสิ่งที่อีกฝ่ายต้องการสื่อสารอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้นเช่นกัน
5. ความเห็นอกเห็นใจ
การมีความเห็นอกเห้นใจต่อเพื่อนร่วมทีมสามารถช่วยให้คุณเข้าใจเจตนาและความรู้สึกของพวกเขาได้ดียิ่งขึ้น การใช้เวลาเพื่อรับฟังและทำความเข้าใจความคิดของผู้อื่นอาจช่วยให้คุณสื่อสารกับพวกเขาด้วยวิธีที่ถูกต้องมากยิ่งขึ้น
6. การร่วมมือกัน
การทำงานเป็นทีมเกิดขึ้นเพื่อทำให้กลุ่มคนที่มีทักษะและความสามารถพิเศษที่แตกต่างกันสามารถทำงานร่วมกันเพื่อบรรลุเป้าหมายร่วม จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะร่วมมือกับสมาชิกทีม แบ่งปันความคิดเห็น และพัฒนางานของกันและกันเพื่อสร้างทีมที่ดีขึ้นมา
7. ความตระหนัก
การลับคมความสามารถในการตระหนักถึงพลวัตของทีมเป็นเรื่องที่สำคัญต่อการทำงานเป็นทีม เช่น หากคนผู้หนึ่งกำลังยึดครองพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นในการสนทนา สิ่งที่ควรทำคือการนำสมดุลกลับมาเพื่อเปิดโอกาสให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมกัน ในทางกลับกัน หากคนผู้หนึ่งมักจะเขินอายหรือลังเลที่จะแบ่งปันความเห็นของตน สิ่งที่ควรทำคือการสร้างพื้นที่ที่เพื่อนร่วมทีมผู้นั้นรู้สึกปลอดภัยที่จะดึงทักษะและความสามารถเฉพาะตัวออกมาใช้ เป็นต้น
วิธีพัฒนาทักษะการทำงานเป็นทีม
แม้จะต้องใช้เวลาและความพยายามในการพัฒนา soft skills อย่างทักษะการทำงานเป็นทีม มันก็ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ขั้นตอนต่อไปนี้คือขั้นตอนที่คุณสามารถปฏิบัติตามเพื่อพัฒนาทักษะการทำงานเป็นทีมของคุณ
- รับข้อเสนอแนะที่สัตย์จริง
การค้นหาสิ่งที่ตัวเองต้องพัฒนาอาจเป็นเรื่องยาก ดังนั้นการขอให้เพื่อนที่ไว้ใจ เพื่อนร่วมงาน หรือที่ปรึกษาให้ข้อเสนอแนะที่จริงจังและถูกต้องเกี่ยวกับจุดแข็งและจุดอ่อนในการทำงานเป็นทีมของคุณจะช่วยให้คุณสามารถพัฒนาทักษะเหล่านั้น
- ตั้งเป้าหมายส่วนบุคคล
การใช้ทั้งการสังเกตและข้อเสนอแนะจากผู้อื่นเพื่อตั้งเป้าหมายที่เกี่ยวข้องและสามารถทำได้ภายในเวลาที่กำหนดจะ่ช่วยให้คุณพัฒนาทักษะการทำงานเป็นทีมไปได้ทีละทักษะ หนึ่งในแนวทางการตั้งเป้าหมายที่สามารถเลือกใช้คือ SMART goal ซึ่งคือการตั้งเป้าหมายอย่างเจาะจง (Specific) วัดผลได้ (Measurable) สามารถทำได้จริง (Achievable) สอดคล้องกับผลลัพธ์ที่ต้องการ (Relevant) และภายในกรอบเวลาที่ตั้งไว้ (Time-Bound)
- ฝึกฝน
การฝึกฝนจนสามารถเห็นพัฒนาการในทักษะของตัวเองจะต้องใช้เวลา จงคอยสอดส่องการทำงานเป็นทีมของตัวเองตลอดทั้งวัน ทั้งในและนอกเวลางาน และตั้งใจฝึกฝนทักษะที่คุณต้องการสร้างไปทีละขั้นตอน
- เลียนแบบผู้ที่มีทักษะการทำงานเป็นทีมที่แข็งแกร่ง
เมื่อคุณพบตัวอย่างที่ดีของการทำงานเป็นทีมที่แข็งแกร่ง จงเรียนรู้จากเขาและมองว่าทำไมการกระทำของเขาจึงโดดเด่นขึ้นมาในสายตาคุณ แล้วนำคุณสมบัติเหล่านั้นมาใช้ในการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นตอนทำงาน
HR องค์กรใด อยากบอกรักพนักงานแบบเกร๋ๆ เท่ๆ แนว HR ยุคใหม่ ที่ดูเเลแบบนั่งอยู่ในใจพนักงาน ลองติดต่อ Solution ปรึกษานักจิตวิทยาจาก Relationflip : Innovative Mental Healthcare Web Application ที่พร้อมช่วยพนักงานของคุณดีลกับปัญหาและเป็นที่ปรึกษาในทุกๆ เรื่องนะคะ Tel: 099-0026888 #InnovativeMentalHealthcare #MentalHealthcareService #Relationflip
Reference: https://www.indeed.com/career-advice/career-development/teamwork-skills