บทความน่ารู้

6 เคล็ดลับที่จะช่วยพยุงคุณเมื่อชีวิตทำให้เหนื่อยล้า

          6 เคล็ดลับ ต่อไปนี้สามารถช่วยให้คุณรู้สึกดีขึ้นเมื่อชีวิตทำให้คุณเหนื่อยล้า และเมื่อความเครียดประเดประดังเข้ามาในชีวิต

1. หลีกเลี่ยงหลุมพรางของ “ความเชื่อที่ว่าโลกมีความยุติธรรม”

          “ความเชื่อที่ว่าโลกมีความยุติธรรม” เป็นอีกหนึ่งอคติทางความคิด (Cognitive bias) ที่ถูกศึกษาโดยนักจิตวิทยาสังคมมากมาย ยกตัวอย่างเช่น ผู้คนมักจะมีทัศนคติที่ว่าถ้าคนคนหนึ่งยากจน นั่นก็เป็นเพราะเขาสมควรแล้วที่จะยากจน

          อย่าตกหลุมพรางของความคิดที่ว่า “ถ้าฉันต้องดิ้นรนพยายามกับสิ่งใด นั่นก็เป็นเพราะฉันสมควรแล้วที่จะต้องดิ้นรน เพราะฉันเป็นคนไร้ประโยชน์” เพราะชีวิตไม่ใช่การเล่นเกมที่มีการไต่ระดับ ยังมีคนที่ฉลาดเฉลียวและเก่งกาจมากมายที่กำลังเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่ยากลำบากเช่นกัน (เช่น ค่ารักษาพยาบาลที่สูงลิ่วโดยที่ไม่มีประกันชีวิตมาช่วย) เราต่างเคยตัดสินใจผิดพลาดในชีวิต บางครั้งผลกระทบของมันก็เพียงเล็กน้อย แต่บางครั้งก็ใหญ่หลวงจนต้องใช้เวลาทั้งชีวิตเพื่อฟื้นฟูจากความเสียหายที่เกิดขึ้น

 

2. เตือนตัวเองว่าคุณกำลังทำดีที่สุดแล้ว

          คำแนะนำจาก Dr. Fran Vertue คือ อย่าลืมเตือนใจตัวเองว่าคุณกำลังทำในสิ่งที่สามารถทำได้ในตอนนี้ ภายใต้ข้อจำกัดของสถานการณ์และทรัพยากรที่มี เพราะฉะนั้นจงฝึกคิดอย่างยืดหยุ่นเพื่อที่จะสามารถใช้ประโยชน์จากโอกาสแห่งการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

 

3. หลีกเลี่ยงหลุมพรางของ “ฉันเพียงต้องพยายามให้มากขึ้น”

          หากคุณมักตอบสนองต่อความเครียด อุปสรรค หรือความเหน็ดเหนื่อยด้วยการพยายามทำงานหนักขึ้นกว่าเดิม ลองใจเย็น ๆ และค่อยเป็นค่อยไปให้มากขึ้น อย่าลืมว่าคุณได้ทำเต็มที่แล้ว การบอกตัวเองว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาได้เพียง “แค่ต้องทำงานหนักขึ้น” ก็ไม่ใช่ความคิดที่ถูกต้องสักเท่าไหร่

          หลุมพรางที่เกิดขึ้น คือ การบอกตัวเองว่าปัญหาคือการที่ยังพยายามไม่มากพออาจทำให้คุณปิดกั้นตัวเองจากวิธีเผชิญปัญหาใหม่ ๆ เช่น ผู้ที่รับมือกับอาการกินไม่หยุดเพราะความเครียดด้วยการบอกตัวเองว่าต้องพยายามคุมอาหารมากขึ้นในครั้งหน้า ซึ่งการกล่าวโทษความพยายามที่ไม่มากพอของตัวเองก็เหมือนกับการพยายามแก้ไขปัญหาผ่านความตั้งใจจริงและความมีวินัยในตัวเอง แทนที่จะมองหากลยุทธ์ใหม่

 

4. ตระหนักรู้ว่าคุณกำลังคิดวน

          แม้การที่ผู้คนเอาแต่คิดหาวิธีเอาปัญหาออกจากชีวิตอาจเป็นการกระทำที่ได้ผล แต่มันก็เป็นเรื่องสำคัญที่จะเข้าใจว่า การคิดมากเกินไปในขณะที่กำลังอารมณ์หดหู่จะลดคุณภาพของวิธีแก้ไขปัญหาที่คุณคิดขึ้นมา

          หากคุณได้ทำการคิดเกี่ยวกับสถานการณ์หรือปัญหามามากแล้ว ขอให้ยอมรับว่าคำตอบของการแก้ไขปัญหาคงไม่ได้อยู่ในการคิดวนในเรื่องของวิธีแก้ไขปัญหา ในทางกลับกัน การหยุดคิดเกี่ยวกับปัญหามีแนวโน้มที่จะทำให้คุณลุกขึ้นมาลงมือทำเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่คุณสามารถทำได้ เพื่อทำให้สถานการณ์หรือสภาวะอารมณ์ของคุณดีขึ้นมากกว่าการคิดต่อไปเสียอีก

          การหยุดคิดเกี่ยวกับปัญหาอาจทำได้ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การนัดเจอเพื่อน และการนั่งสมาธิเพื่อฝึกการจดจ่อสมาธิไปที่สิ่งอื่น

 

5. กำหนดกิจวัตรประจำวัน

          แก่นของการรักษาโรคไบโพลาร์ (โรคที่แสดงออกถึงความผิดปกติทางอารมณ์ที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงสองขั้ว คือ ขั้วอารมณ์ซึมเศร้าและขั้วอารมณ์ก้าวร้าว) คือการส่งเสริมให้ผู้ป่วยสร้างกิจวัตรของการนอนหลับ การกิน การเข้าสังคม และการทำงาน โดยการควบคุมกิจกรรมเหล่านี้จะช่วยควบคุมอารมณ์และพลังงาน ซึ่งหลักการพื้นฐานนี้เป็นจริงสำหรับผู้คนโดยทั่วไป ไม่ใช่เพียงแค่ผู้ป่วย

          หากคุณมีแนวโน้มที่จะทำลายวงจรการนอนหลับ การกิน การเข้าสังคม และการทำงานของตัวเอง ลองกำหนดกิจวัตรประจำวันของตัวเองดู

 

6. ใช้วิธีช่วยผ่อนคลายตัวเอง

          หากความกลัวและความเหน็ดเหนื่อยกับชีวิตกำลังครอบงำคุณไม่ให้เดินหน้าต่อ สิ่งที่คุณเผชิญหน้าอยู่อาจจะเป็นภาวะสมองถูกแช่แข็งของกลไกตอบสนองต่อความเครียด "fight-flight-freeze" หรือ สู้-หนี-แกล้งตาย

          เพื่อที่จะหลุดพ้นจากการที่สมองถูกแช่แข็งจนคิดอะไรไม่ออก เป็นเรื่องสำคัญที่จะเรียนรู้วิธีการง่าย ๆ ในการบรรเทาระบบประสาท เช่น การถกแขนเสื้อขึ้นแล้วนวดแขนเพื่อกระตุ้นการปล่อยฮอร์โมนออกซิโทซิน หรือการถูริมฝีปากเบา ๆ ด้วยหนึ่งหรือสองนิ้ว วิธีการเหล่านี้คือการจัดการง่าย ๆ เมื่อความเครียดของคุณพุ่งสูงหรืออารมณ์ของคุณดิ่งลง

 

         HR องค์กรใด อยากบอกรักพนักงานแบบเกร๋ๆ เท่ๆ แนว HR ยุคใหม่ ที่ดูเเลแบบนั่งอยู่ในใจพนักงาน ลองติดต่อ Solution ปรึกษานักจิตวิทยาจาก Relationflip : Innovative Mental Healthcare Web Application ที่พร้อมช่วยพนักงานของคุณดีลกับปัญหาและเป็นที่ปรึกษาในทุกๆ เรื่องนะคะ Tel: 099-0026888 #InnovativeMentalHealthcare #MentalHealthcareService #Relationflip

Reference: https://www.psychologytoday.com/us/blog/in-practice/201302/6-tips-for-what-to-do-when-you-feel-exhausted-by-life