บทความน่ารู้
ควรทำอย่างไร เมื่อถูกทำร้ายจิตใจด้วยคำพูด?
“การทำร้ายจิตใจทางคำพูด” คือวิธีการโจมตีหรือพูดถึงผู้อื่นในเชิงลบโดยมีคำพูดหรือความเงียบเป็นอาวุธ ซึ่งสามารถปรากฏได้ในหลายรูปแบบ ตั้งแต่การพูดจาโผงผางเสียงดัง ไปจนถึงถ้อยคำแบบอ่อนนอกแข็งในที่ดูเหมือนหวังดีแต่ซ่อนความต้องการควบคุมหรือทำให้รู้สึกผิดเอาไว้
รูปแบบของการทำร้ายจิตใจทางคำพูดที่พบบ่อย ได้แก่ การจงใจเก็บงำข้อมูล การจงใจไม่บอกความคิดเห็นหรือความรู้สึกของตัวเอง การพูดแย้งความทรงจำ ความคิด และความรู้สึกของเหยื่อ การกล่าวโทษเหยื่อในสิ่งที่อยู่เหนือการควบคุมของเขา และการเรียกเหยื่อด้วยชื่อต่าง ๆ ที่อาจสร้างความเจ็บปวดทางจิตใจ เช่น คนโกหก เด็กน้อย และนักฉวยโอกาส เป็นต้น
การทำร้ายจิตใจทางคำพูดมักเกิดในความสัมพันธ์ฉันคู่รัก มิตรภาพ และผู้ปกครองและลูกหลาน แต่มันก็อาจเกิดขึ้นในเพื่อนร่วมงาน ญาติห่าง ๆ หรือคนรู้จักด้วยเช่นกัน หรือแม้แต่คนแปลกหน้าก็สามารถเข้าร่วมในพฤติกรรมนี้ได้
การทำร้ายจิตใจทางคำพูดเป็นหมวดหมู่ย่อยของการล่วงละเมิดทางความรู้สึกหรือจิตใจ ส่วนตัวอย่างของการล่วงละเมิดทางความรู้สึกโดยไม่ใช้คำพูดประกอบด้วยการด้อยค่าโดยไม่ใช้คำพูด เช่น การจ้องไปที่อีกฝ่าย กลอกตา กระแทกประตู นินทาเหยื่อลับหลัง และใช้อำนาจของตัวเองเผื่อผลประโยชน์ส่วนตน
การหาเหตุผลมารองรับการทำร้ายจิตใจทางคำพูดและการล่วงละเมิดทางความรู้สึกเป็นสิ่งที่ไม่สมควรเกิดขึ้นโดยเด็ดขาด
ถ้าหากเรารู้สึกถูกปฏิบัติอย่างไม่ยุติธรรมและไม่ให้เกียรติ เราก็ไม่ควรที่จะใช้คำพูดเพื่อทำร้ายคนอื่น แต่ควรอธิบายให้อีกฝ่ายฟังอย่างใจเย็นว่าการกระทำของเขาทำให้เรารู้สึกอย่างไร และพยายามแก้ไขความขัดแย้งที่เกิดขึ้นและอาจเกิดขึ้นซ้ำในอนาคตด้วยทักษะการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ การล่วงละเมิดทางความรู้สึกโดยไม่ใช้คำพูดอาจสังเกตเห็นและหยุดยั้งได้ยากกว่าการทำร้ายจิตใจทางคำพูด เพราะมันมักจะเกิดขึ้นอย่างเบาบางและแนบเนียน และเกิดขึ้นโดยไม่มีใครรู้แม้แต่ตัวเหยื่อเองก็ตาม การหยุดยั้งการล่วงละเมิดทางความรู้สึกโดยไม่ใช้คำพูดจะต้องใช้ทักษะที่แตกต่างจากการหยุดยั้งการทำร้ายจิตใจทางคำพูดที่เห็นได้ชัด
วิธีการรับมือการทำร้ายจิตใจทางคำพูด
สัญชาตญาณมักจะบอกให้เราโต้ตอบผู้ที่ใช้วาจาทำร้ายเราด้วยการพยายามแก้ไขคำพูดของพวกเขาด้วยเหตุผล เมื่อมีคนล้อเลียนเราด้วยฉายาในเชิงลบ เช่น “คนโกหก” หรือ “เด็กน้อย” ด้วยเจตนาที่ไม่ดี การตอบสนองโดยสัญชาตญาณของเราคือการพยายามโน้มน้าวคนผู้นั้นว่าคำนิยามเหล่านั้นไม่ได้จำกัดความตัวเรา โดยเรามักจะคาดหวังว่าอีกฝ่ายจะเป็นคนปกติที่รับฟังเหตุผลและความเห็นที่ขัดแย้ง แต่ในความเป็นจริงแล้ว เราไม่สามารถใช้เหตุผลกับคนที่ทำร้ายผู้อื่นด้วยวาจาได้
วิธีหยุดยั้งการทำร้ายจิตใจทางคำพูดอย่างมีประสิทธิภาพมีอยู่เพียงวิธีเดียว นั่นคือการแสดงจุดยืนต่อผู้กระทำทุกครั้งที่เขาประพฤติตนเช่นนั้น ถ้าหากมีคนกล่าวโทษเราในสิ่งที่อยู่เหนือการควบคุมของเรา อย่าสนใจในเนื้อความของคำพูดนั้น แต่ให้พูดออกมาว่าการล่วงละเมิดที่เกิดขึ้นคือประเภทใดและขอให้ผู้กระทำหยุดการกระทำนั้น
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเพื่อนกล่าวโทษเราที่ออกจากบ้านสายเกินไป จนทำให้ต้องเจอการจราจรติดขัดที่เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุรถชน แทนที่จะพยายามอธิบายให้เพื่อนฟังว่าเราไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดอุบัติเหตุเช่นนั้น การแสดงจุดยืนโดยการพูดอย่างหนักแน่นว่า “หยุดโทษฉันในสิ่งที่ฉันไม่สามารถควบคุมได้เสียที” ถือเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากกว่า หรือถ้ามีคนเรียกเราด้วยฉายาที่ดูถูก เช่น “คนโกหก” หรือ “เด็กน้อย” การพยายามโน้มน้าวเขาให้เชื่อว่าเราไม่ใช่คนโกหกหรือเด็กน้อยตามที่เขาอ้างจะไม่ช่วยอะไร ดังนั้นสิ่งที่ควรทำคือการบอกอย่างหนักแน่นว่า “หยุดตั้งฉายาเชิงลบให้ฉันได้แล้ว” หรือ “หยุดเรียกฉันด้วยคำที่ดูถูกได้แล้ว”
อย่างไรก็ตาม การแสดงจุดยืนต่อผู้กระทำก็ใช่ว่าจะได้ผลในทุกสถานการณ์ เมื่อวิธีการที่ใจเย็นนี้ไม่ได้ผล การตอบสนองอย่างมีความหมายแบบเดียวที่เราทำได้ คือการเดินออกมาจากสถานการณ์นั้น เช่น ถ้ามีคนตะโกนใส่เราและการแสดงจุดยืนของเราไม่ได้ผล สิ่งเดียวที่เราควรทำคือการเดินออกจากห้องนั้นหรือที่ตรงนั้นไป
การปฏิเสธการยุ่งเกี่ยวกับผู้กระทำและหลีกเลี่ยงการใช้เหตุผลเพื่อโต้แย้งกับพวกเขา คือการแสดงให้พวกเขาเห็นว่าตัวเองกำลังประพฤติตนแบบไร้เหตุผล และให้พวกเขารู้ว่าเราจะไม่ทนต่อพฤติกรรมนั้น ผู้กระทำบางคนอาจเรียนรู้ที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองเมื่อเจอวิธีรับมือเช่นนี้ซ้ำ ๆ หรือบางคนก็อาจจะไม่เรียนรู้อะไรเลย ดังนั้น ถ้าหากเราถูกทำร้ายจิตใจทางคำพูดซ้ำ ๆ จากคนรัก เพื่อน เพื่อนร่วมงาน หรือสมาชิกในครอบครัว ก็อาจจำเป็นที่จะต้องตัดความสัมพันธ์กับพวกเขาชั่วคราวหรือถาวร
การตัดความสัมพันธ์กับผู้กระทำการล่วงละเมิดทางวาจาไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะเมื่อเราพึ่งพาเขาด้านการเงิน เมื่อเรามีบุตรหลานด้วยกัน หรือเมื่อเขาเป็นเพื่อน เพื่อนร่วมงาน หรือสมาชิกในครอบครัวที่เป็นส่วนหนึ่งในเครือข่ายสังคมของเรา ในกรณีเช่นนี้ หนทางเดียวที่จะสามารถหลีกเลี่ยงหรือลดผลกระทบความเสียหายได้คือการจำกัดการติดต่อกับผู้กระทำ ลดโอกาสที่จะพบเจอพวกเขา หรือมีปฏิสัมพันธ์กับพวกเขาเมื่ออยู่ในที่สาธารณะ หรือเมื่อถูกล้อมรอบโดยผู้ที่จะไม่ละเมิดเราเท่านั้น
HR องค์กรใด อยากบอกรักพนักงานแบบเกร๋ๆ เท่ๆ แนว HR ยุคใหม่ ที่ดูเเลแบบนั่งอยู่ในใจพนักงาน ลองติดต่อ Solution ปรึกษานักจิตวิทยาจาก Relationflip : Innovative Mental Healthcare Web Application ที่พร้อมช่วยพนักงานของคุณดีลกับปัญหาและเป็นที่ปรึกษาในทุกๆ เรื่องนะคะ Tel: 099-0026888 #InnovativeMentalHealthcare #MentalHealthcareService #Relationflip
Reference: https://www.psychologytoday.com/intl/blog/the-mysteries-love/201612/the-best-way-end-verbal-abuse