บทความน่ารู้

สถานการณ์ใดจึงควรใช้วิธีบริหารความขัดแย้งทั้ง 5 รูปแบบ?

         “การบริหารความขัดแย้ง” เป็นทักษะสำคัญสำหรับผู้ใดก็ตามที่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นเป็นประจำ เพราะในทุกสถานที่ทำงานจะมีความแตกต่างทางบุคลิกภาพ พื้นเพ และรูปแบบการทำงานอยู่ และเมื่อบุคลากรโต้แย้งกันในเรื่องการทำงานหรือเรื่องส่วนตัว ความขัดแย้งในที่ทำงานก็จะเกิดขึ้น

 

วิธีบริหารความขัดแย้งคืออะไร?

         วิธีบริหารความขัดแย้ง คือ วิธีต่าง ๆ ที่บุคคลหนึ่งสามารถเลือกใช้เพื่อรับมือและแก้ไขความขัดแย้ง ซึ่งแต่ละคนก็มีวิธีจัดการกับความขัดแย้งที่แตกต่างกันออกไป โดยวิธีที่เลือกใช้เป็นด้านหนึ่งที่สำคัญของบุคลิกภาพ

         ระดับความสำเร็จในการรับมือกับความขัดแย้งในที่ทำงานจะแตกต่างกันไปตามวิธีบริหารความขัดแย้งของแต่ละบุคคล แต่กลยุทธ์ที่เลือกใช้ก็อาจต้องพิจารณาจากสายอาชีพที่ทำอยู่ด้วย เพราะบางกลยุทธ์ที่สามารถใช้ในสายอาชีพหนึ่งก็ไม่สามารถประยุกต์ไปใช้กับสายอาชีพอื่นได้

         ทั้งนี้ การเข้าใจว่าวิธีบริหารความขัดแย้งของเราคืออะไร และสามารถประยุกต์ใช้มันเพื่อให้เข้ากับที่ทำงานได้อย่างไร จะมีผลที่สำคัญต่อการปฏิสัมพันธ์ในที่ทำงานและประสิทธิภาพในการทำงานของทีม

 

วิธีบริหารความขัดแย้ง 5 รูปแบบ

         โดยปกติแล้วเรามักจะใช้ 1-2 วิธีมากกว่าวิธีอื่น แต่อย่างไรแต่ละวิธีก็มีประโยชน์ที่แตกต่างกันไป การรู้ว่าควรเลือกใช้วิธีไหนเมื่อไหร่จะช่วยให้เราสามารถควบคุมความขัดแย้ง และยังนำไปสู่สภาพแวดล้อมการทำงานที่ดีขึ้นอีกด้วย

 

1. การบูรณาการ (Collaborating Style)

         การบูรณาการ คือ ส่วนผสมของการยืนกรานในความคิดเห็นของตัวเองและการให้ความร่วมมือ ซึ่งคือผู้ที่ให้ความร่วมมือในการพยายามหาทางออกที่เป็นที่พึงพอใจกับทุกฝ่าย วิธีนี้เป็นขั้วตรงข้ามของ “การหลีกหนี” ซึ่งทำให้ทั้งสองฝ่ายได้รับในสิ่งที่ตัวเองต้องการ และยังช่วยลดอารมณ์ขั้วลบที่เกิดขึ้น โดยการบูรณาการจะได้ผลดีเมื่อความสัมพันธ์ระยะยาวและผลลัพธ์ของงานเป็นสิ่งที่สำคัญ เช่น การวางแผนการควบรวม 2 แผนกให้เป็นหนึ่งเดียว โดยต้องการพนักงานที่ดีที่สุดของแต่ละแผนกมาอยู่ในแผนกที่สร้างขึ้นใหม่ เป็นต้น

 

2. การใช้อำนาจ (Competing Style)

         ผู้ที่ใช้วิธีนี้คือผู้ที่มีความแน่วแน่ในสิ่งที่ตัวเองต้องการ ไม่ค่อยให้ความร่วมมือ และสามารถทำทุกอย่างที่พิจารณาแล้วว่าเหมาะสมเพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายของตนเอง ซึ่งควรใช้วิธีนี้เมื่อเราสนใจแค่ผลลัพธ์ แต่ไม่สนใจความสัมพันธ์ เช่น เมื่อเราแก่งแย่งลูกค้าใหม่กับอีกองค์กร แต่ข้อควรระวังคือไม่ควรใช้วิธีนี้ภายในองค์กร เพราะอาจทำให้ความสัมพันธ์ของบุคลากรย่ำแย่

 

3. การหลีกหนี (Avoiding Style)

         ผู้ที่ใช้วิธีนี้มักจะไม่ยืนกรานในความคิดเห็นของตัวเองและไม่ให้ความร่วมมือ ในขณะเดียวกันก็หลบฉากจากการเมืองในที่ทำงานหรือถอนตัวจากสถานการณ์ที่อันตราย วิธีนี้ควรใช้เมื่อการจัดการสถานการณ์ควรถูกเลื่อนออกไปก่อน หรือเมื่อเราไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับผลลัพธ์มากนัก เช่น เมื่อเราถกเถียงกับเพื่อนร่วมงานเรื่องการใช้ Line call ในการทำงาน เป็นต้น

 

4. การยอมตาม (Accommodating Style)

         การยอมตามเป็นขั้วตรงข้ามของ “การใช้อำนาจ” โดยองค์ประกอบของการยอมตามคือการเสียสละตัวเองเพื่อทำให้อีกฝ่ายพึงพอใจ แม้มันอาจดูเป็นวิธีที่ใจดีและมีน้ำใจ แต่มันก็อาจเป็นการเอารัดเอาเปรียบผู้ที่อ่อนแอกว่าและก่อให้เกิดความเกลียดชังขึ้นมาได้ วิธีนี้ควรใช้เมื่อเราไม่สนใจผลลัพธ์สักเท่าไหร่ แต่ให้ความสำคัญกับการรักษาหรือการสร้างความสัมพันธ์ เช่น การออกไปรับประทานอาหารกับหัวหน้า และตอบตกลงเมื่อหัวหน้าเสนอร้านอาหารไทยขึ้นมา

 

5. การประนีประนอม (Compromising Style)

         เป้าหมายของวิธีนี้คือการหาทางออกที่เหมาะสมและพอยอมรับได้สำหรับทั้งสองฝั่ง แต่ก็ยังรักษาการยืนกรานในความต้องการของตัวเองและการร่วมมือกันเอาไว้ระดับหนึ่ง วิธีนี้จะได้ผลดีที่สุดเมื่อผลลัพธ์ไม่ได้เป็นสิ่งที่สำคัญและเวลากำลังเร่งรัดเข้ามา เช่น เมื่อเราต้องการตัดสินใจเรื่องในปัจจุบันเพื่อขยับไปเรื่องอื่นที่สำคัญมากกว่าเสียที และสามารถยอมเสียผลประโยชน์ไปเล็กน้อยเพื่อให้ได้ผลการตัดสินใจ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ไม่ควรลืมคือไม่มีฝ่ายไหนที่พึงพอใจอย่างแท้จริง

 

         สิ่งที่สำคัญมาก คือ การไม่หวาดกลัวเมื่อมีความขัดแย้งเกิดขึ้น เพราะแม้สถานการณ์จะดูย่ำแย่ก็ยังมีสิ่งที่เราสามารถทำได้เพื่อรับมือ แก้ไข หรือลดความรุนแรงของความขัดแย้งนั่นเอง

 

         HR องค์กรใด อยากบอกรักพนักงานแบบเกร๋ๆ เท่ๆ แนว HR ยุคใหม่ ที่ดูเเลแบบนั่งอยู่ในใจพนักงาน ลองติดต่อ Solution ปรึกษานักจิตวิทยาจาก Relationflip : Innovative Mental Healthcare Web Application ที่พร้อมช่วยพนักงานของคุณดีลกับปัญหาและเป็นที่ปรึกษาในทุกๆ เรื่องนะคะ Tel: 099-0026888 #InnovativeMentalHealthcare #MentalHealthcareService #Relationflip

Reference: https://www.indeed.com/career-advice/career-development/conflict-management; https://www.waldenu.edu/news-and-events/walden-news/2017/0530-whats-your-conflict-management-style