บทความน่ารู้

ควรทำอย่างไร…เมื่อเราไม่รู้ว่าควรทำอย่างไร?

          หางานใหม่หรือลาออกจากที่เก่าดี? ควรจะจบความสัมพันธ์หรือลองดูต่ออีกหน่อยเผื่ออะไร ๆ จะดีขึ้น? กลับไปเรียนเพื่อค้นหาเส้นทางอาชีพใหม่หรือก้มหน้าทำงานเดิมต่อไปจะดีกว่า? ยอมเสียค่าน้ำมันเพื่อขับรถไปงานแต่งของญาติสนิทที่ต่างจังหวัด หรือเลือกส่งของขวัญแสดงความยินดีไปแทน? บนเส้นทางชีวิตมีทางแยกมากมายที่เราต้องตัดสินใจเลือก และไม่ว่าจะเป็นเป็นการตัดสินใจที่เล็กหรือใหญ่ ความรู้สึกไม่มั่นคงก็ก่อตัวขึ้นมาได้อย่างง่ายดายเสมอ ส่งผลให้เกิดการลังเลใจและประวิงเวลาเพื่อตัดสินใจในที่สุด

          และตอนนี้ก็เป็นเวลาอันสมควรที่เราจะเลิกผัดผ่อนแล้ว เคล็ดลับเหล่านี้จะช่วยให้เรารู้ว่าควรทำอย่างไรเมื่อเราไม่รู้ว่าควรทำอย่างไรดี

1. จดจ่อไปที่จุดหมายมากกว่าหนทาง

          ผู้คนมักจะสับสนว่าอะไรคือจุดหมายและอะไรคือหนทางที่จะนำไปสู่จุดหมายนั้น ยกตัวอย่างเช่น การหางานใหม่หรือการเปลี่ยนสายอาชีพดูจะเป็น “จุดหมาย” แต่พวกมันจะใช่จุดหมายจริง ๆ หรือ? ถ้าหากไม่แน่ใจ ให้ลองคิดว่าพวกมันเป็น “หนทาง” แล้วลองดูว่าจะมีจุดหมายปลายทางที่แท้จริงโผล่ขึ้นมาไหม (เช่น เงินเดือนที่เพิ่มขึ้น ความพึงพอใจในที่ทำงานที่เพิ่มขึ้น เป็นต้น)

          เมื่อเราตระหนักถึงปลายทางที่แท้จริงที่เราอยากทำให้สำเร็จ เราก็จะสามารถคิดหาทางเลือกใหม่ ๆ หรือหนทางใหม่ ๆ เพื่อไปสู่ปลายทางนั้น เช่น แทนที่จะเปลี่ยนงานหรือสายอาชีพเพื่อเพิ่มความพึงพอใจในที่ทำงาน เราอาจลองคุยกับหัวหน้าเพื่อขอทำงานจากที่บ้าน หรือขอย้ายไปในทีมที่วิธีการทำงานเข้ากันมากกว่า แทนที่จะกลับเข้ารั้วโรงเรียนแล้วเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง ลองหาคอร์สออนไลน์ดูก่อน แทนที่จะไม่ไปงานแต่งงานของญาติ ลองถามหาคนที่เราสามารถติดรถไปด้วยก่อน เป็นต้น

 

2. ให้ความสำคัญกับคุณค่าที่เรายึดถือ

          หากเราตัดสินใจที่จะพยายามแก้ไขความสัมพันธ์ให้ดีกว่าเดิม นั่นก็เป็นเพราะว่าเราเชื่อในผลของความพยายาม หรือถ้าหากเราเลือกเดินออกมาจากความสัมพันธ์ นั่นก็เป็นเพราะเราเชื่อว่าชีวิตคือการค้นหาสิ่งใหม่ ๆ และเป็นตัวของตัวเอง หากเราตัดสินใจขับรถไปงานแต่งงานที่จัดไกลจากบ้าน นั่นก็เป็นเพราะครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญสำหรับคุณ หรือถ้าหากเราตัดสินใจไม่ไป นั่นก็เป็นเพราะเราเชื่อว่าคุณค่าของความสัมพันธ์ไม่ได้อยู่ที่งานใหญ่ ๆ เท่านั้น แต่เป็นสิ่งที่ปรากฏในชีวิตประจำวันต่างหาก

          คุณค่าที่เรายึดถือเปรียบเสมือนลูกตุ้มที่ถ่วงเราให้มั่นคงอยู่เสมอ การกลั่นกรองและจัดเรียงคุณค่าเหล่านั้นจะช่วยให้เราค้นพบลำดับความสำคัญและส่วนที่สำคัญที่สุด และการพัฒนาต่อยอดจากจุดนั้นจะป้องกันไม่ให้เราต้องเจออนาคตที่มีแต่ความน่าเสียดาย

 

3. ลงมือทำ

          คงมีหลายครั้งที่เราเอาแต่ประวิงเวลาที่จะเริ่มต้นทำอะไรสักอย่างจนกว่าเราจะมั่นใจว่าการตัดสินของเราถูกต้อง วิธีการเช่นนี้คือการ “เตรียมตัว ระวัง ไป” แต่ในความเป็นจริงแล้ว การ “เตรียมตัว ไป ระวัง” กลับเป็นวิธีที่ดีกว่า ในบางครั้งเราก็ต้องกล้าที่จะเริ่มต้นไปทีละเล็กละน้อย เช่น ลองสมัครงานใหม่ไปก่อนแล้วคอยดูว่าจะเกิดอะไรขึ้น ลองไปสัมภาษณ์งานและรอดูว่าผลจะเป็นอย่างไร ลองหาดูว่าจะต้องใช้เวลาเท่าไหร่เพื่อขับรถไปถึงสถานที่จัดงานแต่งงาน ลองมองหาคอร์สออนไลน์ที่เปิดให้เรียนฟรี และลองหานักจิตวิทยาการปรึกษาด้านความสัมพันธ์ดู

          การลงมือทำอะไรสักอย่างแทนการมัวแต่รีรอสิ่งที่มั่นใจว่าใช่ จะทำให้เราได้รับข้อเสนอแนะที่จะช่วยปรับแต่งความคิดและความรู้สึกให้ดีขึ้น

 

4. คุยกับใครสักคน

          ระหว่างที่เราพูดสิ่งที่เราคิดออกมา ความคิดของเราก็จะกระจ่างขึ้น และยังทำให้เริ่มจับจุดต่าง ๆ ได้ และเห็นถึงความสัมพันธ์ของหลาย ๆ จุดที่ไม่เคยนึกถึง ในทางเดียวกัน ข้อเสนอแนะจากผู้อื่นจะทำให้เราสามารถพิจารณาได้ว่าความคิดของเรามีเหตุผลไหม ข้อเสนอแนะเหล่านี้อาจมาจากเพื่อน สมาชิกในครอบครัว เพื่อนร่วมงานจากทีมอื่น ผู้ที่ทำงานในสายอาชีพที่เราสนใจ นักจิตวิทยาการปรึกษาด้านความสัมพันธ์ หรือห้องแชทออนไลน์ก็ได้ เรื่องสำคัญคืออย่ามัวแต่สองจิตสองใจในการตามหาคนที่ใช่ จงลงมือทำ

 

5. เชื่อในสัญชาตญาณของตัวเอง

          ถ้ามาถึงจุดที่หัวหมุนด้วยข้อมูลที่ไหลทะลักเข้ามา ก็ถึงเวลาที่จะฟังเสียงในใจและพึ่งพาสัญชาตญาณของตัวเอง ซึ่งสามารถทำได้ด้วยการสั่งให้ตัวเองเชื่อในคุณค่าที่ยึดถือ และคิดสะท้อนประสบการณ์การตัดสินใจครั้งใหญ่ที่ผ่านมา

          เช่นเดียวกับการที่เราไม่อยากสับสนระหว่างจุดหมายและหนทาง เราก็คงไม่อยากสับสนระหว่าง “ข้อมูลที่ดีจากความรู้สึกและสัญชาตญาณ” กับ “การตอบสนองที่หุนหันพลันแล่นและการแสดงความคับข้องใจผ่านการกระทำ” ยกตัวอย่างเช่น การรู้สึกเอือมระอากับวันทำงานแย่ ๆ เต็มทนจนต้องกระทืบเท้าปึงปังออกไปคือความหุนหันพลันแล่น ในขณะที่การรับรู้ถึงความรู้สึกไม่สบายใจหลังการสัมภาษณ์งานไม่ใช่ความหุนหันพลันแล่น เป็นต้น

 

6. ใช้เวลาในการตัดสินใจ

          สิ่งที่เราอยากหลีกเลี่ยงคือการหุนหันพลันแล่น ไม่ใช่การลงมือทำ อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะลงมือทำได้ เราก็จะต้องมีข้อมูล เชื่อในสัญชาตญาณของตัวเอง และรู้ชัดว่าคุณค่าที่ยึดถือคืออะไร

          แต่เมื่อได้พิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว เราก็อาจต้องการใช้เวลาในการตัดสินใจก่อน ลองปล่อยใจและให้เวลาตัวเองในการปรับสภาพจิตใจให้มั่นคง เหมือนกับการพักโดตอนทำขนมปัง หรือการถอยมาก้าวหนึ่งเพื่อทำหัวให้โล่ง ๆ จนพร้อมคิดแก้ไขปัญหาต่อไป ดังนั้นจึงขอแนะนำให้ลองพักสมองสักวัน เบนความสนใจไปที่สิ่งอื่น ๆ และรอดูว่าจะมีความคิดอะไรปรากฏขึ้นมาบ้าง

 

         HR องค์กรใด อยากบอกรักพนักงานแบบเกร๋ๆ เท่ๆ แนว HR ยุคใหม่ ที่ดูเเลแบบนั่งอยู่ในใจพนักงาน ลองติดต่อ Solution ปรึกษานักจิตวิทยาจาก Relationflip : Innovative Mental Healthcare Web Application ที่พร้อมช่วยพนักงานของคุณดีลกับปัญหาและเป็นที่ปรึกษาในทุกๆ เรื่องนะคะ Tel: 099-0026888 #InnovativeMentalHealthcare #MentalHealthcareService #Relationflip

Reference: https://www.psychologytoday.com/intl/blog/fixing-families/201511/what-do-when-you-dont-know-what-do