บทความน่ารู้

ทำไมคนส่วนมากจึงรู้สึกเกลียดชัง “ความยืดหยุ่น”?

          เช่นเดียวกับการมองโลกในแง่บวกที่เกินพอดีและการกดดันเพื่อปลุกแรงบันดาลใจ เทรนด์ของ “ความยืดหยุ่น” ได้เริ่มทิ้งประสบการณ์ที่ไม่น่าอภิรมย์ให้กับใครหลาย ๆ คน ความยืดหยุ่นถูกมองเป็นดั่งการผจญภัยของผู้กล้าผู้สามารถจัดการความเครียดด้วยการกวัดแกว่งดาบเพียงครั้งเดียว และกลับมาตั้งหลักได้อีกครั้งด้วยการดึงตัวเองขึ้นมาอย่างง่ายดาย โดยละเลยเงื่อนไขที่ทำให้เราต้องมีความยืดหยุ่นตั้งแต่ต้น เมื่อความยืดหยุ่นถูกนำเสนอในรูปแบบคร่ำครึเช่นนี้ (แบบที่การมีหรือขาด “ปณิธานที่แท้จริง” คือสิ่งยืนยันความสามารถในการปรับตัวของมนุษย์อันงดงาม) ก็ไม่แปลกที่มันจะทำให้เรารู้สึกไม่ดีกับมันขึ้นมา

          ความเกลียดชังต่อความยืดหยุ่น คือการที่ผู้คนรู้สึกต่อต้านหรือหงุดหงิดถ้อยคำให้กำลังใจที่มองโลกในแง่บวกมากเกินไป เช่น “เข้มแข็งเข้าไว้” หรือ “มองโลกในแง่ดีเข้าไว้” เพราะถ้อยคำติดปากที่พูดกันผ่าน ๆ เหล่านี้ไม่ได้สะท้อนแก่นที่แท้จริงของความยืดหยุ่นสักเท่าไหร่ ซ้ำร้ายมันยังอาจขัดขวางไม่ให้เราเข้าใจว่าจะสามารถพัฒนาความยืดหยุ่นที่แท้จริงได้อย่างไร เพราะฉะนั้นเราจึงควรหันกลับมาพิจารณาความเข้าใจเกี่ยวกับความยืดหยุ่นที่แพร่หลายอีกครั้ง

          ลำดับแรก “ความยืดหยุ่น” ควรเปลี่ยนแปลงไปตามบริบท เพราะเราทุกคนไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว แต่ได้รับอิทธิพลจากสภาพแวดล้อมอยู่เสมอ ดังนั้น การที่เรารู้สึกเครียดเมื่อกำลังเผชิญช่วงเวลาที่ยากลำบาก ก็คือปฏิกิริยาตอบสนองที่เหมาะสมต่อสภาพแวดล้อมและความท้าทายรอบตัวเรา การมอง “ความยืดหยุ่น” อย่างเป็นระบบโดยไม่ลืมที่จะพิจารณาเงื่อนไขหรือสถานการณ์จะช่วยให้เราสามารถรับมือกับความท้าทายได้ดียิ่งขึ้น

          อีกประเด็นหนึ่งคือ เราควรพิจารณาความยืดหยุ่นในด้านของกลไกของสมองผ่านงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เพราะการประเมินความยืดหยุ่นในฐานะของคุณลักษณะหรือความอดทนได้ตกยุคไปแล้ว

          ไม่ว่าผู้คนจะเชื่อกันว่าอย่างไร แต่ในความเป็นจริงแล้วเราไม่จำเป็นต้องมีจิตใจที่เด็ดเดี่ยวและไม่โอนเอนภายใต้ความเครียดเท่านั้น งานวิจัยได้เผยว่าเราจะสามารถยืดหยุ่นมากขึ้นเมื่อเรายอมรับความท้าทายและไม่ปิดกั้นตัวเองจากการขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น

          การตีกรอบ “ความยืดหยุ่น” ขึ้นใหม่โดยพิจารณาถึงสิ่งที่ทำให้เราเติบโตจะช่วยให้เราสามารถพัฒนาความยืดหยุ่นของตัวเองได้ดียิ่งขึ้น ตัวอย่างของมุมมองที่ควรเปลี่ยนแปลง เช่น:

 

1. ความยืดหยุ่นคือกระบวนการ ไม่ใช่คุณลักษณะ

          ความเชื่อที่ว่าคนบางคนเกิดมามีความยืดหยุ่นน้อยกว่าหรือมากกว่าผู้อื่นเป็นความเชื่อที่ล้าสมัยไปแล้ว งานวิจัยได้ออกมายืนยันว่าสิ่งที่จำเป็นต่อการสร้างความยืดหยุ่นคือ “เวลา” การมีประสบการณ์กับความทุกข์ทรมานจะช่วยปลูกฝังความเข้าอกเข้าใจ ความสามารถในการปรับตัว และความมีไหวพริบ แต่สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในพริบตา ความสามารถในการซึมซับบทเรียนจากประสบการณ์ที่ยากลำบากจะพัฒนาขึ้นด้วยความตั้งใจและด้วยเวลาที่ผ่านไป เพราะฉะนั้นจึงไม่ควรคิดว่าการที่เรายังไม่สามารถยืดหยุ่นได้ดั่งใจนึกนั้นเป็นผลจากพันธุกรรมที่ไม่ดีของตัวเอง หรือเป็นผลจากการที่เราพลาดบทเรียนบางอย่างในชีวิตไป

 

2. ความยืดหยุ่นไม่ใช่การยืนหยัดขึ้นมาอีกครั้งด้วยการเมินเฉยต่ออารมณ์เชิงลบ

          การแสร้งว่าตัวเองไม่เป็นไรจะเป็นอันตรายต่อสุขภาวะของเรา อย่าลืมว่าเราไม่เหมือนกับลูกบอลยางที่ไม่ว่าจะโยนลงไปเท่าใดก็เด้งกลับขึ้นมาอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย การลุกขึ้นมาหลังล้มลงไปโดยไม่เรียนรู้บทเรียนหรือดูแลตัวเองยังสามารถส่งผลกระทบโดยไม่ได้ตั้งใจ งานวิจัยได้เผยว่าการฝึกสติที่ให้ความสำคัญกับการยอมรับอารมณ์ที่ยากจะจัดการ จะสามารถช่วยให้เรารับมือและก้าวข้ามผ่านอารมณ์เหล่านั้นอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าการเพิกเฉยต่อมัน

 

3. ความยืดหยุ่นคือการใช้ประโยชน์จากปัจจัยปกป้อง ไม่ใช่การมีชีวิตที่สมบูรณ์แบบ

          ชีวิตเป็นเรื่องที่ยาก ความสัมพันธ์เป็นเรื่องที่ซับซ้อน และงานก็เป็นเรื่องที่สูบพลังไปจากเรา ในขณะที่เราต่างกดดันตัวเองในระดับที่น่าตกใจ อย่างที่บทความในโซเชียลมีเดียทำให้ผู้ที่ยังไม่สามารถทำตามเป้าหมายของชีวิตก่อนอายุ 20 กลายเป็นผู้ที่ล้มเหลวในชีวิต จึงกลายเป็นเรื่องง่ายที่จะรู้สึกไม่ประสบความสำเร็จเมื่อการมีชีวิตที่สมบูรณ์แบบกลายเป็นเรื่องที่ถูกย้ำเตือนอยู่เสมอ

          แต่ทว่างานวิจัยกลับเน้นย้ำถึงพลังของปัจจัยปกป้องในชีวิต เช่น ความสัมพันธ์ที่ห่วงใยกันและกัน การใช้ชีวิตตามคุณค่าที่ยึดถือ การรู้สึกขอบคุณและซาบซึ้งใจต่อสิ่งต่าง ๆ เวลาที่ใช้ไปกับกิจกรรมที่ผ่อนคลายและเพลิดเพลินใจ อารมณ์ขัน และความสามารถในการใช้ประสบการณ์ในอดีตเพื่อแก้ปัญหาในปัจจุบัน แม้ชีวิตที่สมบูรณ์แบบจะไม่มีอยู่จริง แต่เราสามารถมุ่งเน้นการสร้างปัจจัยปกป้องที่จะทำหน้าที่เป็นกันชนของเรื่องที่จะเข้ามาในชีวิตได้

 

4. ความยืดหยุ่นจะเกิดขึ้นเมื่อมีความสัมพันธ์กับผู้อื่น

          ความเป็นปัจเจกนิยมสุดขั้วสามารถขัดขวางความยืดหยุ่นได้ เพราะความสัมพันธ์และความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งจะช่วยสร้างเงื่อนไขของความปลอดภัยเชิงจิตวิทยา ซึ่งคือการรู้สึกว่าตัวเองได้รับการยอมรับโดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกหยามเหยียดหรือเพ่งเล็ง การรู้ว่าตัวเองไม่ได้โดดเดี่ยวเดียวดาย แต่ถูกรายล้อมด้วยผู้คนที่สนับสนุนให้ใช้ชีวิตตามคุณค่าที่เรายึดถือจะช่วยสร้างแรงผลักดันและความเป็นหนึ่งเดียว ความยืดหยุ่นจะถูกสร้างขึ้นเมื่อเราร่วมมือกันเพื่อค้นหาสิ่งที่เกื้อหนุนเรา ดังนั้น ความสัมพันธ์ที่จริงใจและเป็นห่วงเป็นใยแก่กันจึงเป็นด้านที่สำคัญของความยืดหยุ่นที่แท้จริง

 

         HR องค์กรใด อยากบอกรักพนักงานแบบเกร๋ๆ เท่ๆ แนว HR ยุคใหม่ ที่ดูเเลแบบนั่งอยู่ในใจพนักงาน ลองติดต่อ Solution ปรึกษานักจิตวิทยาจาก Relationflip : Innovative Mental Healthcare Web Application ที่พร้อมช่วยพนักงานของคุณดีลกับปัญหาและเป็นที่ปรึกษาในทุกๆ เรื่องนะคะ Tel: 099-0026888 #InnovativeMentalHealthcare #MentalHealthcareService #Relationflip

Reference: https://www.psychologytoday.com/intl/blog/rethink-your-way-to-the-good-life/202307/the-psychology-of-resilience-resentment