บทความน่ารู้

6 เคล็ดลับพิชิตอาการคิดมาก

          ไม่ว่าจะเป็นการโทษตัวเองในความผิดที่เคยทำไป หรือการกลัดกลุ้มว่าจะทำบางสิ่งในอนาคตสำเร็จไหม ความคิดวิตกกังวลเหล่านี้มักพบได้ในคนคิดมาก และการที่พวกเขาไม่สามารถสลัดมันออกไปจากหัวได้ก็ทำให้พวกเขาต้องทนทุกข์ทรมานอยู่เสมอ

          เป็นธรรมดาที่เราจะคิดมากบ้างเป็นครั้งคราว แต่คนบางคนกลับไม่สามารถทำให้ความคิดที่โหมกระหน่ำในหัวสงบเงียบลงได้ ซึ่งบทพูดที่เล่นอยู่ข้างในให้เราได้ยินประกอบไปด้วยรูปแบบความคิดที่ทำร้ายตัวเอง 2 รูปแบบ ได้แก่ “การคิดวน” และ “การกังวล”

 

การคิดวน คือการหยิบเรื่องในอดีตขึ้นมาคิดอีกครั้ง เช่น

- ฉันไม่น่าพูดขึ้นมาในที่ประชุมวันนี้เลย ทุกคนมองฉันราวกับคนโง่เง่า

- ฉันน่าจะทนอยู่ที่เก่าต่อไป ฉันน่าจะยังมีความสุขกว่าถ้ายังอยู่ที่นั่น

- พ่อกับแม่ปรามาสเอาไว้ว่าฉันไม่มีทางประสบความสำเร็จหรอก และพวกเขาก็พูดถูกเผง

 

การกังวล คือการคาดการณ์เกี่ยวกับอนาคตในแง่ลบ (และมักจะเข้าขั้นพินาศ)

- พรุ่งนี้ฉันจะต้องทำให้ตัวเองขายหน้าตอนนำเสนองานแน่ ๆ มือของฉันจะสั่น ใบหน้าของฉันจะขึ้นสีแดงเถือก และทุกคนก็จะรับรู้ว่าฉันเป็นคนไร้ความสามารถเพียงใด

- ฉันไม่มีวันได้รับการเลื่อนตำแหน่งหรอก ไม่ว่าฉันจะทำอะไรก็ไม่สำคัญ มันไม่มีทางเกืดขึ้นแน่ ๆ

- สักวันคู่ครองของฉันก็จะได้พบกับคนที่ดีกว่า และฉันก็จะโดนขอหย่าและกลับมาโดดเดี่ยวอีกครั้ง

 

          คนคิดมากไม่ได้ใช้เพียงแค่ “คำ” เพื่อใคร่ครวญเกี่ยวกับชีวิตของพวกเขา แต่บางครั้งยังจินตนาการ “ภาพ” ขึ้นมาด้วย พวกเขาอาจจะฉายภาพเหตุการณ์โศกเศร้าวนเวียนในจิตใจ ซึ่งแนวโน้มที่จะคิดมากเกี่ยวกับทุกสิ่งจะฉุดรั้งไม่ให้พวกเขาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพนั่นเอง

 

อันตรายของการคิดมาก

          อาการคิดมากเกินเหตุไม่ได้เป็นเพียงภาระแก่ตัวเราเท่านั้น แต่มันยังสามารถทำลายสุขภาวะของเราอีกด้วย นักวิจัยค้นพบว่าการจมอยู่กับข้อบกพร่อง ความผิดพลาด และปัญหาจะเพิ่มความเสี่ยงของปัญหาสุขภาพจิต และเมื่อสุขภาพจิตแย่ลง แนวโน้มในการคิดวนก็จะเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้เกิดวงจรอุบาทว์ที่ยากจะแก้ไข

          นอกจากนี้ ผลวิจัยยังได้เผยว่าการคิดมากจะนำไปสู่ความเสียหายทางจิตใจอย่างรุนแรง เพื่อที่จะหลบหนีความทุกข์นั้น หลาย ๆ คนได้หันไปพึ่งกลยุทธ์การรับมือที่ไม่ดีนัก เช่น การดื่มแอลกอฮอล์ การกินไม่หยุด เป็นต้น

          คนคิดมากมักจะไม่สามารถข่มตาหลับลงได้เมื่อไม่สามารถหยุดคิด โดยหลักฐานจากงานวิจัยอธิบายว่าการคิดวนและคิดมากจะนำไปสู่การนอนหลับที่น้อยลงและคุณภาพการนอนหลับที่แย่ลง

 

วิธีหยุดคิดมาก

          การหยุดคิดเรื่องเดิมซ้ำ ๆ หยุดคาดการณ์ถึงอนาคตที่ย่ำแย่ หรือหยุดย้อนวิจารณ์อดีตที่ไม่พึงพอใจนั้นพูดง่ายแต่ทำยาก อย่างไรก็ดี การฝึกฝนเป็นประจำจะช่วยให้สามารถจำกัดรูปแบบการคิดแง่ลบเหล่านี้ได้

 

1. ตระหนักรู้เมื่อคุณคิดมากเกินไป

          การตระหนักรู้เป็นขั้นแรกในการหยุดยั้งการคิดมาก ลองเริ่มใส่ใจในวิธีการคิดของตัวเอง และเมื่อคุณพบว่าตัวเองกำลังหยิบเรื่องเก่าออกมาคิดซ้ำแล้วซ้ำอีก หรือกำลังกังวลเกี่ยวกับสิ่งที่อยู่เหนือการควบคุมของตัวเอง ให้ยอมรับกับตัวเองว่าความคิดของคุณไม่ส่งผลดีต่อประสิทธิภาพเอาเสียเลย

2. ท้าทายความคิดของตัวเอง

          การไหลตามความคิดแง่ลบเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ง่าย ดังนั้น ก่อนที่คุณด่วนสรุปว่าการลาป่วยจะทำให้คุณถูกไล่ออก หรือการลืมกำหนดส่งไปครั้งหนึ่งจะทำให้คุณกลายเป็นคนไร้บ้านที่ไร้งาน คุณควรยอมรับเสียว่าความคิดของคุณอาจติดลบเกินจริง จงเรียนรู้ที่จะตระหนักและเปลี่ยนความคิดที่บิดเบือนเหล่านี้ออกไปก่อนที่พวกมันจะปั่นหัวคุณ

3. จดจ่อกับการแก้ไขปัญหา

          การจมอยู่กับปัญหาจะไม่ช่วยอะไร เพราะการมองหาวิธีแก้ไขต่างหากที่ช่วยคุณได้ ลองถามตัวเองว่าคุณสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อเรียนรู้จากความผิดพลาดหรือเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาในอนาคต กล่าวคือแทนที่จะถามว่า “ทำไม” บางสิ่งจึงเกิดขึ้น จงลองถามตัวเองว่าเราจะสามารถ “ทำ” อะไรได้บ้าง

4. กำหนดเวลาสะท้อนคิด

          การเอาแต่คิดเกี่ยวกับปัญหาเป็นเวลานานไม่ใช่เรื่องที่มีประสิทธิภาพ แต่ในทางกลับกัน การสะท้อนคิดสั้น ๆ จะให้ประโยชน์กับคุณ เช่น การคิดว่าคุณจะสามารถทำอะไรแตกต่างออกไปได้บ้าง หรือการเล็งเห็นถึงหลุมพรางที่อาจเกิดขึ้นในแผนการ สามารถช่วยให้คุณทำดีขึ้นในอนาคต จึงขอแนะนำให้คุณรวม “เวลาคิด” สัก 20 นาทีเข้าไปในตารางเวลาในแต่ละวันด้วย และปล่อยให้ตัวเองกังวล คิดวน หรือครุ่นคิดถึงอะไรก็ตามที่คุณต้องการในช่วงเวลานี้ หลังจากนั้น เมื่อเวลาหมดลงก็ให้เดินหน้าต่อเพื่อไปทำสิ่งที่มีประสิทธิภาพมากกว่า และเมื่อคุณพบว่ากำลังคิดมากนอกเวลาที่กำหนดไว้ ให้เตือนตัวเองว่าคุณจะคิดเกี่ยวกับมันในภายหลัง

5. ฝึกสติ

          เมื่อคุณอยู่กับปัจจุบัน การคิดวนถึงเรื่องในอดีตหรือกังวลเรื่องอนาคตล่วงหน้าก็จะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ดังนั้นจึงควรตั้งใจตระหนักถึง “ที่นี่” และ “ตอนนี้” มากขึ้น การมีสติจะต้องผ่านการฝึกฝนเหมือนดังทักษะทั่วไป แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็จะสามารถช่วยลดการคิดมากไปได้

6. เบี่ยงเบนความสนใจ

          บอกตัวเองให้หยุดคิดเกี่ยวกับสิ่งที่อาจส่งผลตรงกันข้ามกับที่ตั้งใจเอาไว้ ยิ่งคุณพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้ความคิดเข้ามาในหัวมากเท่าไหร่ มันก็จะยิ่งผุดขึ้นมามากขึ้นเท่านั้น การทำตัวเองให้ยุ่งกับกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งจึงเป็นวิธีเบี่ยงเบนความสนใจที่ยอดเยี่ยมที่สุด เช่น การออกกำลังกาย การเข้าร่วมบทสนทนาในหัวข้อที่ไม่ถนัด หรือการเข้าร่วมโครงงานที่จะช่วยเบี่ยงเบนความสนใจออกจากความคิดแง่ลบมากมาย

 

 

         HR องค์กรใด อยากบอกรักพนักงานแบบเกร๋ๆ เท่ๆ แนว HR ยุคใหม่ ที่ดูเเลแบบนั่งอยู่ในใจพนักงาน ลองติดต่อ Solution ปรึกษานักจิตวิทยาจาก Relationflip : Innovative Mental Healthcare Web Application ที่พร้อมช่วยพนักงานของคุณดีลกับปัญหาและเป็นที่ปรึกษาในทุกๆ เรื่องนะคะ Tel: 099-0026888 #InnovativeMentalHealthcare #MentalHealthcareService #Relationflip

Reference: https://www.psychologytoday.com/us/blog/what-mentally-strong-people-dont-do/201602/6-tips-stop-overthinking