บทความน่ารู้

How to write SMART goals

          เราจะเริ่มด้วยเรื่องราวของเจน ผู้จัดการในบริษัทขนาดกลางแห่งหนึ่งซึ่งมีชื่อว่า Techfirm วันหนึ่งเจนได้ถูกมอบหมายให้เพิ่มยอดใช้งานของแอพพลิเคชั่น Techfirm ซึ่งเธอรู้ดีว่าเธอจะต้องขอความร่วมมือจากทุกคนเพื่อทำงานนี้ให้สำเร็จ แต่ปัญหาก็คือเจนเคยตั้งเป้าหมายกว้าง ๆ ให้กับทีมของเธอในอดีต แต่ไม่นานพวกเขาก็เริ่มทำตามแผนที่วางเอาไว้ไม่ได้ และดูเหมือนว่าจะไม่มีใครที่เข้าใจว่าความสำเร็จควรหน้าตาเป็นอย่างไร กระบวนการทำงานของพวกเขาก็ไม่ได้ถูกควบคุมดูแลอย่างเพียงพอ จนวัตถุประสงค์หลักของงานนั้นถูกลดความสำคัญลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก่อนที่จะถูกลืมเลือนไปในที่สุด

          ดังนั้น เจนจึงวางแผนว่าจะใช้ประโยชน์จากการตั้งเป้าหมายแบบ SMART goals เพื่อสร้างแผนการปฏิบัติงาน (Action Plan) และผลักดันให้ทุกคนสามารถพยายามอดทนจนทำงานในครั้งนี้สำเร็จ

 

SMART goals คืออะไร?

          การตั้งเป้าหมายแบบ SMART goals คือการตั้งเป้าหมายอย่างเจาะจง (Specific) วัดผลได้ (Measurable) สามารถทำได้จริง (Achievable) สอดคล้องกับผลลัพธ์ที่ต้องการ (Relevant) และภายในกรอบเวลาที่ตั้งไว้ (Time-Bound)

          เทคนิคนี้จะช่วยให้มั่นใจได้ว่าวัตถุประสงค์ของงานจะสามารถทำสำเร็จได้ภายในกรอบเวลาที่ชัดเจน ช่วยให้เรารู้ว่าควรทำอะไรในแต่ละขั้นตอน ทำให้สามารถติดตามความคืบหน้าได้ง่ายขึ้น และทำให้สามารถมองเห็นว่ามีขั้นตอนไหนที่ขาดหายไปจากกระบวนการบ้าง

 

วิธีการเขียน SMART goals

 

S: Specific หรือ การตั้งเป้าหมายอย่างเจาะจง

          การตั้งเป้าหมายอย่างเจาะจงจะทำให้เป้าหมายมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเป้าหมายที่เจาะจงจะตอบคำถามเหล่านี้

- อะไรคือสิ่งที่จะต้องทำให้สำเร็จ?

- ใครคือคนที่รับผิดชอบงานนี้?

- ขั้นตอนใดบ้างที่จำเป็นต่อการทำให้เป้าหมายสำเร็จ?

          การหาคำตอบของคำถามเหล่านี้จะช่วยให้เราตระหนักถึงแก่นของเป้าหมายได้นั่นเอง

          ตัวอย่างของเป้าหมายที่เจาะจงที่เจนสามารถตั้งขึ้นมา คือ “การเพิ่มจำนวนของผู้ใช้รายเดือนของแอพพลิเคชั่น Techfirm ด้วยการปรับปรุงหน้ารายละเอียดผลิตภัณฑ์ในแอปสโตร์ให้ดีเยี่ยม และสร้างแคมเปญโปรโมตทางโซเชียลมีเดียในกลุ่มเป้าหมาย”

 

M: Measurable

          ความเจาะจงเป็นการสร้างฐานที่แข็งแกร่ง แต่การทำให้เป้าหมายสามารถวัดผลได้จะทำให้สามารถติดตามความคืบหน้าได้ง่ายขึ้น และทำให้รู้ว่าจะสามารถไปถึงเส้นชัยได้เมื่อไหร่

          ในกรณีของเจน เธอและทีมต้องการที่จะเพิ่มยอดผู้ใช้แอพพลิเคชั่น แต่จำนวนที่ต้องการเพิ่มคือกี่คน? เพราะเพียงแค่มีคนสมัครเพิ่มอีกหนึ่งคนก็ถือว่าเป็นการเติบโตของยอดผู้ใช้ที่ดีแล้ว ซึ่งหมายความว่างานของพวกเขาถึงเส้นชัยแล้วหรือเปล่า? เช่นเดียวกันกับกลยุทธ์ของพวกเขา จำนวนของแพลตฟอร์มที่พวกเขาจะลงโฆษณาคือเท่าไหร่?

          สิ่งที่เจนควรทำคือการใส่เกณฑ์เปรียบเทียบมาตรฐานที่สามารถวัดผลได้เข้าไปด้วย เช่น “การเพิ่มจำนวนผู้ใช้รายเดือนของแอพพลิเคชั่น Techfirm เดือนละ 1,000 คน ด้วยการปรับปรุงหน้ารายละเอียดผลิตภัณฑ์ในแอปสโตร์ให้ดีเยี่ยม และสร้างแคมเปญโปรโมตทางโซเชียลมีเดียในกลุ่มเป้าหมายบน 4 แพลตฟอร์ม คือ Facebook Twitter Instagram และ LinkedIn”

 

A: Achievable

          เป้าหมายควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง ไม่ใช่บนฐานที่ไม่มั่นคงจนทำให้เราล้มลงในที่สุด จึงควรพิจารณาว่าวัตถุประสงค์หลักของงานเป็นสิ่งที่ทีมของเราสามารถทำได้จริงไหม

          เจนอาจพิจารณาเป้าหมายของเธอและตระหนักได้ว่า ด้วยจำนวนคนในทีมที่น้อยกับภาระงานที่หนัก การสร้างแคมเปญโปรโมตทางโซเชียลมีเดียบน 4 แพลตฟอร์มอาจเป็นภารกิจที่หนักหนาเกินควร เธอจึงตัดสินใจลดเหลือเพียง 3 แพลตฟอร์มที่น่าจะหาลูกค้าใหม่ได้ดีที่สุด

          เป้าหมายของเจนในขั้นตอนนี้จึงเป็น “การเพิ่มจำนวนผู้ใช้รายเดือนของแอปพลิเคชั่น Techfirm เดือนละ 1,000 คน โดยการปรับปรุงหน้ารายละเอียดผลิตภัณฑ์ในแอปสโตร์ให้ดีเยี่ยม และสร้างแคมเปญโปรโมตทางโซเชียลมีเดียในกลุ่มเป้าหมายบน 3 แพลตฟอร์ม คือ Facebook Twitter และ Instagram”

 

R: Relevant

          ขั้นตอนนี้คือการมองภาพรวมและถามตัวเองว่าทำไมเราจึงตั้งเป้าหมายนี้ขึ้นมา

          เจนทราบดีว่าแอพพลิเคชั่นเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญเบื้องหลังความจงรักภักดีที่ลูกค้ามีต่อแบรนด์ และเพียงมีการใช้งานที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยก็สามารถเป็นสิ่งสำคัญสำหรับกำไรสุทธิที่องค์กรตั้งเป้าไว้ เจนจึงปรับปรุงเป้าหมายของเธอเพื่อสะท้อนถึงเรื่องนี้

          “การเพิ่มจำนวนผู้ใช้รายเดือนของแอพพลิเคชั่น Techfirm เดือนละ 1,000 คน ด้วยการปรับปรุงหน้ารายละเอียดผลิตภัณฑ์ในแอปสโตร์ให้ดีเยี่ยม และสร้างแคมเปญโปรโมตทางโซเชียลมีเดียในกลุ่มเป้าหมายบน 3 แพลตฟอร์ม คือ Facebook Twitter และ Instagram เนื่องจากผู้ใช้งานโทรศัพท์มีแนวโน้มที่จะใช้ผลิตภัณฑ์ของเรายาวนานกว่าลูกค้าประเภทอื่น การเพิ่มการใช้งานของแอพพลิเคชั่นจึงจะสร้างกำไรได้ในท้ายที่สุด”

 

T: Time-bound

          เพื่อที่จะวัดความสำเร็จอย่างเหมาะสม เราและทีมต้องเข้าใจตรงกันว่าเป้าหมายจะบรรลุได้เมื่อใด ระยะเวลาที่เรากำหนดคือตอนไหน ทีมจะเริ่มทำงานที่ได้รับมอบหมายเมื่อไหร่ และเมื่อไหร่ที่พวกเขาจะทำเสร็จ

          SMART goals ควรที่จะมีมาตรวัดเวลาอยู่ด้วย เพื่อให้ทุกคนสามารถก้าวไปในเส้นทางที่จะมุ่งไปสู่เป้าหมายหรือความสำเร็จภายในกรอบเวลาที่กำหนด

          เมื่อเจนรวมเวลาที่กำหนดเข้าไป SMART goals ของเธอก็เสร็จสมบูรณ์ กล่าวคือ “การเพิ่มจำนวนผู้ใช้รายเดือนของแอพพลิเคชั่น Techfirm เดือนละ 1,000 คน ภายในไตรมาสแรกของปีพ.ศ. 2567 ด้วยการปรับปรุงหน้ารายละเอียดผลิตภัณฑ์ในแอปสโตร์ให้ดีเยี่ยม และสร้างแคมเปญโปรโมตทางโซเชียลมีเดียในกลุ่มเป้าหมายบน 3 แพลตฟอร์ม คือ Facebook Twitter และ Instagram ซึ่งจะเริ่มขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 เนื่องจากผู้ใช้งานโทรศัพท์มีแนวโน้มที่จะใช้ผลิตภัณฑ์ของเรายาวนานกว่าลูกค้าประเภทอื่น การเพิ่มการใช้งานของแอพพลิเคชั่นจึงจะสร้างกำไรได้ในท้ายที่สุด”

 

          การตั้งเป้าหมายโดยใช้เทคนิค SMART goals จะช่วยให้เราสามารถประสบความสำเร็จในการตั้งเป้าหมายและบรรลุเป้าหมาย ไม่ว่าเป้าหมายนั้นจะเล็กหรือใหญ่ก็ตาม

 

 

         HR องค์กรใด อยากบอกรักพนักงานแบบเกร๋ๆ เท่ๆ แนว HR ยุคใหม่ ที่ดูเเลแบบนั่งอยู่ในใจพนักงาน ลองติดต่อ Solution ปรึกษานักจิตวิทยาจาก Relationflip : Innovative Mental Healthcare Web Application ที่พร้อมช่วยพนักงานของคุณดีลกับปัญหาและเป็นที่ปรึกษาในทุกๆ เรื่องนะคะ Tel: 099-0026888 #InnovativeMentalHealthcare #MentalHealthcareService #Relationflip

Reference: https://www.atlassian.com/blog/productivity/how-to-write-smart-goals#:~:text=What%20are%20SMART%20goals%3F,within%20a%20certain%20time%20frame