บทความน่ารู้

จะทำอย่างไร เมื่อมีคนไม่ชอบคุณ

          คำพูดที่ว่า “ฉันไม่สนใจว่าผู้คนจะชอบฉันหรือไม่” แสดงถึงการสร้างกำแพงในใจเพื่อปกป้องตัวเองจากความเจ็บปวดและการถูกปฏิเสธ เพราะแท้จริงแล้ว สัตว์สังคมอย่างมนุษย์เราต่างสนใจว่าผู้คนชอบตัวเองหรือไม่ ดังที่ทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ได้อธิบายเอาไว้ว่า การรู้สึกถึงความรัก ความเสน่หา และความต้องการเป็นเจ้าของและมีเจ้าของ เป็นก่อนที่จะสามารถไปถึงลำดับขั้นสูงสุดซึ่งคือความต้องการพัฒนาศักยภาพของตนและมีชีวิตที่สมบูรณ์ในอุดมคติ

          มนุษย์อย่างเราต้องการกันและกันเพื่อความอยู่รอด ตั้งแต่ตอนที่เรายังเป็นทารก เติบโตขึ้นมาจนเข้าศึกษาในสถานศึกษา จวบจนตอนที่ก้าวเข้าไปในเส้นทางอาชีพของตัวเอง งานวิจัยมากมายยังได้แสดงให้เห็นถึงประโยชน์ของเครือข่ายทางสังคมที่มีผลดีต่ออายุขัยและความสุขในผู้สูงวัย ในทางกลับกัน การปลีกตัวอยู่อย่างเดียวดายและอ้างว้างถูกมองเป็นบทลงโทษที่โหดร้ายทีสุดเลยทีเดียว

          การคิดว่าเราสามารถมองเห็นศักยภาพของตัวเองโดยไม่พึ่งความช่วยเหลือของคนอื่นเป็นเพียงความคิดผิด ๆ เพราะในขณะที่กำลังกุมบังเหียนบังคับทิศทางในชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัว เราก็จะต้องการใครสักคนที่มาพูดคุยด้วยและรับฟังเรา หรือยิ่งไปกว่านั้นคือผู้ที่จะมาดึงสติเราจากความคิดวกวน อาจกล่าวได้ว่าผู้คนรอบตัวจะทำหน้าที่เป็นกระจกที่สะท้อนให้เราเห็นว่าตัวเราเป็นอย่างไร เติบโตมามากแค่ไหนเมื่อเทียบกับในอดีต และคอยย้ำเตือนถึงจุดแข็งที่เราอาจหลงลืมไป

          เมื่อพิจารณาถึงความต้องการเครือข่ายทางสังคมของมนุษย์เราแล้ว ผลกระทบจากการปฏิเสธ การวิพากษ์วิจารย์เชิงลบ และคำกล่าวประชดประชันอันร้ายกาจสามารถเป็นได้ตั้งแต่ความปวดใจเล็กน้อยจนถึงอาการของโรคซึมเศร้า แต่เราก็สามารถรับมือได้ด้วยการเรียนรู้วิธีเมินเฉยต่อการแสดงความรู้สึกไม่ชอบของผู้อื่น เรื่องสำคัญคือการพยายามรักษาสมดุลระหว่างความต้องการเป็นที่ชื่นชอบและความเข้าใจในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบัน

 

วิธีรับมือเมื่อรู้สึกว่ามีคนกำลังไม่ชอบเรา ได้แก่:

 

1. สังเกตตัวเองว่ากำลังมีปฏิกิริยาต่อต้านหรือปิดกั้นตัวเองหรือไม่

          ขั้นแรกของการรับมือกับสถานการณ์แง่ลบคือการตระหนักรู้การปฏิกิริยาของตัวเอง แทนที่จะกดข่มอารมณ์เอาไว้ให้อึดอัดใจ ลองกำหนดเวลาถามตัวเองสัก 3-4 ครั้งในแต่ละวันว่า “ฉันกำลังรู้สึกอย่างไร” รู้สึกถึงความหวาดหวั่นในจิตใจ ความโกรธที่โลดแล่นไปทั่วทั้งร่างกาย หรือความรู้สึกปั่นป่วนในช่องท้องจากความอัปยศอดสูบ้างไหม การจำแนกความรู้สึกของตัวเองสามารถทำได้ผ่านการฝึกฝน แต่อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนแรกคือการรู้ว่าอารมณ์ไหนที่เรากำลังรู้สึก เพื่อที่จะสามารถพิจารณาว่าควรทำสิ่งใดต่อ

 

2. ถามตัวเองถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์นั้น

          เมื่อเรารู้ตัวว่ากำลังมีปฏิกิริยาต่อต้านหรือปิดกั้นตัวเอง ลองถามตัวเองว่าอะไรคือสิ่งที่เราคิดว่าอีกฝ่ายตั้งใจจะทำกับเรา เขาตั้งใจที่จะหยามเหยียด ทรยศ ดูหมิ่น หรือล้อเลียนเราจริง ๆ รึเปล่า เพราะเป็นธรรมชาติของสมองที่จะปกป้องเราจากอันตราย และสถานการณ์ใดที่มีความเป็นไปได้ของกระทำที่มุ่งร้ายของผู้คนในสังคม ก็อาจถูกมองว่าเป็นสถานการณ์ที่อันตรายได้ ดังนั้น เมื่อเราตอบสนองต่อคำพูดของอีกฝ่าย ลองถามตัวเองว่าอะไรคือเจตนาหลังคำพูดนั้น จริงที่ไม่ที่เขามุ่งร้ายต่อเรา ผู้อื่นจะเชื่อในคำของอีกฝ่ายและตัดสินเราในแง่ลบจริงหรือ เป็นไปได้ไหมที่จะถามอีกฝ่ายว่าตั้งใจที่จะดูหมิ่นเราหรือทำให้ไม่มีใครเชื่อความคิดของเราหรือเปล่า อย่างไรก็ดี โดยปกติแล้วผู้คนมักจะไม่ทราบถึงผลกระทบของคำพูดของตัวเอง เราจึงอาจรู้สึกดีขึ้นได้เมื่อรู้ว่าแท้จริงแล้ว อีกฝ่ายไม่ได้มีเจตนามุ่งร้ายต่อเรา

 

3. หากมั่นใจว่าอีกฝ่ายมุ่งร้ายต่อเรา ลองวิเคราะห์ว่าเป้าหมายของเขาคือเราหรือความคิดเห็นของเรา

          เมื่อสมองของเรารับรู้ถึงสิ่งที่อาจเป็นภัยคุกคาม ก็จะส่งผลให้เราตอบสนองราวกับว่าตัวเรากำลังถูกโจมดี กล่าวคือเราจะถือสาอีกฝ่ายราวกับว่าเขาตั้งใจทำให้เราไม่สบายใจจริง ๆ แต่สิ่งที่เราควรทำคือการหายใจเข้าลึก ๆ เพื่อคลายความเครียด และลองถามตัวเองว่าอีกฝ่ายวิจารณ์ตัวเราหรือความคิดเห็นของเรากันแน่ หากยังไม่แน่ใจ ให้หายใจเข้าลึก ๆ อีกครั้งจนลงไปถึงช่องท้อง การทำเช่นนี้จะช่วยตรึงให้เราอยู่กับปัจจุบันและดึงเราออกจากความคิดฟุ้งซ่าน หรือถ้าหากคุณสามารถสบตาอีกฝ่ายและถามคำถามจากข้อที่ 2 ออกไปได้ ก็จะเป็นทางออกที่ดีที่ช่วยให้รู้ว่าคำพูดของเขาเป็นการโจมตีที่ตัวบุคคลที่จะต้องหยิบยกมาคุยกัน หรือเป็นเพียงการแสดงความเห็นต่างที่ไม่เป็นผลร้ายกับเราเท่านั้น

 

4. ถ้าหากเราเชื่อว่าอีกฝ่ายไม่ชอบเรา ลองถามตัวเองว่าข้อเท็จจริงนี้ส่งผลอะไรกับเราหรือไม่

          เป็นเรื่องธรรมดาที่จะมีทั้งคนที่ชอบและไม่ชอบเรา อย่างสำนวนที่ว่า “คนรักเท่าผืนหนัง คนชังเท่าผืนเสื่อ” เพราะฉะนั้นจงลองพิจารณาดูว่าความคิดของเขาส่งผลกระทบต่อชีวิตส่วนตัวหรือชีวิตการทำงานหรือไม่ ถ้าไม่ แล้วอะไรคือสิ่งที่เราสามารถทำได้เพื่อแสดงความต้องการถูกชื่นชมหรือเคารพจากอีกฝ่าย และอะไรคือสิ่งที่เราสามารถทำได้เพื่อทำตัวเป็นกลางและไม่เกลียดชังอีกฝ่าย เพราะแท้จริงแล้ว ยิ่งเราสามารถยอมรับตัวตนของผู้อื่นอย่างที่เขาเป็น หักห้ามใจไม่พยายามปรับปรุงเขาหรือเปลี่ยนแปลงความคิดเห็นของเขา และรับฟังเขาด้วยความอดทนและเข้าอกเข้าใจมากเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งสามารถมุ่งหน้าสู่เป้าหมายของตัวเองโดยไม่ต้องสนใจความชื่นชอบของคนอื่นที่มีต่อเรามากเท่านั้น ดังคติธรรมทางพุทธศาสนาที่ว่า หากเราสามารถหยุดการจับผิดสิ่งต่าง ๆ รอบตัว เราก็สามารถไปถึงศักยภาพสูงสุดของตัวเองได้ จงก้าวข้ามปัญหาด้วยการให้อภัยผู้ที่ไม่เล็งเห็นถึงคุณค่าของเราเมื่อเราลงมือทำ และให้อภัยตัวเราเองที่ตอบสนองออกไปด้วยความโกรธหรือความกลัว

 

          หากเราได้ทำดีที่สุดเท่าที่เราจะสามารถทำได้ด้วยสิ่งที่เรามีแล้ว การกังวลว่าผู้อื่นจะชอบเราหรือไม่รังแต่จะทำให้เสีย “พลังงาน” ซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีค่าที่สุดของเราเท่านั้น

 

 

         HR องค์กรใด อยากบอกรักพนักงานแบบเกร๋ๆ เท่ๆ แนว HR ยุคใหม่ ที่ดูเเลแบบนั่งอยู่ในใจพนักงาน ลองติดต่อ Solution ปรึกษานักจิตวิทยาจาก Relationflip : Innovative Mental Healthcare Web Application ที่พร้อมช่วยพนักงานของคุณดีลกับปัญหาและเป็นที่ปรึกษาในทุกๆ เรื่องนะคะ Tel: 099-0026888 #InnovativeMentalHealthcare #MentalHealthcareService #Relationflip

Reference: https://www.psychologytoday.com/us/blog/wander-woman/201209/what-to-do-when-someone-doesnt-like-you