บทความน่ารู้
“อาการสนิมเกาะ”…คู่หูของอาการหมดไฟ
ในโลกธุรกิจที่ความสำเร็จด้านการงานถูกนิยามด้วยการอุทิศตนอย่างไม่หยุดยั้งจนกว่าจะถึงขีดจำกัดในกระแสการทำงานที่ดำเนินไปอย่างรวดเร็ว ใครหลายคนพบว่าตัวเองได้เดินมาถึงทางแยกและเกิดคำถามมากมายผุดขึ้นมาในใจ แท้จริงแล้วความสำเร็จคืออะไร? จะต้องทำอย่างไรเพื่อไปสู่ความสำเร็จที่ว่า? และคำว่า “คุ้มค่าที่จะทำ” คืออะไรกันแน่?
ท่ามกลางการไล่ตามความสำเร็จอย่างไม่ลดละที่นำมาซึ่งอาการหมดไฟ มันก็เป็นเรื่องสำคัญที่จะให้ความสนใจกับอาการ “Rust-out” อีกความท้าทายหนึ่งที่ซ่อนอยู่และรอคอยที่จะแผลงฤทธิ์
คำว่า “อาการหมดไฟ” หรือ Burnout ถูกนำไปเชื่อมโยงกับความเหนื่อยล้าที่เกิดจากการทำอย่างเต็มที่โดยไร้การผ่อนปรน แต่ในตอนนี้ได้มีคำใหม่ถือกำเนิดขึ้น ซึ่งเป็นคำที่ใช้เรียกสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นระยะเวลานานและมักจะไม่ถูกสังเกตเห็นจนกระทั่งสายเกินไป นั่นคือคำว่า “Rust-out” หรืออาการสนิมเกาะนั่นเอง
คู่หูของอาการหมดไฟอย่าง “อาการสนิมเกาะ” จะค่อย ๆ เผยตัวตนออกมาอย่างเชื่องช้า และปรากฏขึ้นในฐานะของผลลัพธ์ของการละเลยการทำความรู้จักตัวเองอย่างแท้จริง การเมินเฉยต่อเสียงในใจของตัวเอง การสร้างขอบเขตส่วนบุคคลที่ไม่สำเร็จ และการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็นต่อชีวิต
กรณีตัวอย่างของอาการสนิมเกาะคือผู้บริหารท่านหนึ่งซึ่งเป็นเหมือนตัวแทนของการอุทิศตนทำงานและความขยัน เธอทุ่มเทแรงใจให้กับหน้าที่การงาน และยังมุ่งมั่นในการบรรลุเป้าหมายโดยไม่มีอะไรขาดตกบกพร่องระหว่างทาง อย่างไรก็ตาม การไล่ตามความสำเร็จอย่างไม่ลดละก็มาพร้อมกับราคาที่ต้องจ่าย ซึ่งคือ “การสูญเสียตัวตน” เธอถือเป็นหนึ่งในกรณีตัวอย่างของผู้ที่หมดไฟในงานหนึ่งแล้วจึงเปลี่ยนไปทำงานอื่นด้วยหวังว่าจะไม่เป็นเหมือนก่อน แต่สิ่งที่เธอพลาดคือความจริงที่ว่าความเปลี่ยนแปลงจะต้องเกิดขึ้นจากภายใน ไม่ใช่ภายนอก
ปัญหาที่ผู้บริหารท่านนี้พบ(ซึ่งเป็นปัญหาที่เหล่าผู้นำพบบ่อย) ได้แก่:
1. อาการหมดไฟที่ไม่จางหาย
ปัญหาของผู้บริหารท่านนี้เกิดขึ้นจากขาดการเยียวยาตนเอง ซึ่งส่งผลให้ขัดขวางความสามารถในการสอบถามตัวเองอย่างมีประสิทธิภาพ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะทบทวนอดีตเพื่อเรียนรู้บทเรียนที่สำคัญต่ออนาคตเพื่อที่จะก้าวต่อไป
แม้จะมีความสำเร็จที่โดดเด่นมากมาย เธอกลับไม่เคยเข้าใจการตกค้างของอาการหมดไฟที่ผ่านมาอย่างถ่องแท้ เธอเก็บบาดแผลทางอารมณ์ ทางจิตใจ และทางร่างกายเอาไว้โดยไม่เคยริเริ่มจัดการอาการหมดไฟที่กำเริบเป็นช่วง ๆ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา บาดแผลที่ไม่จางหายกลายเป็นอุปสรรคต่อความสามารถในการทำสิ่งต่าง ๆ อย่างเต็มที่ ซ้ำยังกัดกร่อนความเชื่อใจในตัวเองและป้องกันไม่ให้เธอตระหนักรู้ถึงความต้องการของตัวเอง บาดแผลทางอารมณ์เหล่านี้ก็เปรียบเสมือนสนิมที่กัดกร่อนตัวเธอนั่นเอง
2. วัฏจักรของอาการหมดไฟ
หนึ่งในด้านที่น่าหงุดหงิดใจที่สุดในสถานการณ์ของเธอคือการถูกขังอยู่ในวัฏจักรของอาการหมดไฟ ความเหนื่อยล้าทำให้เธอพลาดโอกาสในการเรียนรู้จากประสบการณ์ครั้งก่อน เธอไม่เคยใช้เวลาเพื่อพิจารณาอย่างจริงจังว่าอาการวัฏจักรหมดไฟที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ ส่งสัญญาณอะไรเกี่ยวกับตัวเธอ เธอมีส่วนที่ทำให้วัฏจักรนี้เกิดขึ้นและคงอยู่อย่างไร และการเปลี่ยนแปลงแบบใดที่เธอควรทำให้เกิดขึ้น แต่เธอกลับทำแต่พฤติกรรมเดิม ๆ ที่ทำให้วัฏจักรดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ ซึ่งกลายเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีให้กับลูกน้องของเธอ
3. การเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีในด้านการสร้างขอบเขต
ในฐานะผู้บริหารที่อยู่ในกลุ่มอำนาจสูงสุดขององค์กร เธอได้กลายเป็นตัวอย่างของการสร้างขอบเขตที่ไม่ดีโดยไม่ได้ตั้งใจ เธอกลายเป็นเหมือนหลักฐานที่มีชีวิตของความเชื่อที่ว่าการกดดันตัวเองให้ไปถึงขีดจำกัดโดยไม่หันกลับมามองและดูแลตัวเองเป็นเส้นทางสู่ความสำเร็จ ซึ่งสิ่งนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบแค่กับสุขภาวะของเธอ แต่ยังส่งผลกระทบจากบนลงล่างสู่ทีมของเธอและวัฒนธรรมองค์กรอีกด้วย
บทเรียนจากกรณีตัวอย่างข้างต้นและวิธีหลีกเลี่ยงหลุมพรางของอาการหมดไฟและอาการสนิมเกาะ มีดังนี้:
1. อย่าต่อรองกับการดูแลตัวเอง
ผู้นำจะต้องเห็นถึงความสำคัญของการดูแลตัวเอง เพราะการดูแลตัวเองไม่ใช่สิทธิพิเศษสำหรับแค่บางคน แต่เป็นเรื่องจำเป็นสำหรับทุกคนในการรักษาความสำเร็จเอาไว้อย่างยืนยง การดูแลตัวเองที่พูดถึงนี้คือการรับฟังร่างกายและจิตใจของตัวเอง การสร้างขอบเขตขึ้นมา และการปล่อยให้ตัวเองพักผ่อนและฟื้นฟู
สิ่งสำคัญคือการเข้าใจว่าสูตรการดูแลตัวเองของตัวเราคืออะไร เพราะเราทุกคนมีความต้องการที่แตกต่างกันไป บางคนอาจต้องการการอยู่อย่างสงบเพื่อคิดทบทวน หรือบางคนอาจต้องการการตระหนักรู้ในตนเองเพื่อสร้างแบบแผนของตัวเอง อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นสูตรเฉพาะตัวแบบใด ความมีระเบียบวินัยก็เป็นสิ่งสำคัญในการลงมือทำอย่างต่อเนื่อง
2. โอบรับความเปลี่ยนแปลงจากภายใน
ความเป็นผู้นำเป็นมากกว่าความสำเร็จภายนอก แต่รวมไปถึงการเติบโตจากภายในและการตระหนักรู้ในตนเองด้วย แทนที่จะมองหาความเปลี่ยนแปลงจากภายนอกเพื่อแก้ปัญหาภายใน ผู้นำควรเดินหน้าเพื่อค้นพบตัวเองและพัฒนาตนเอง และการสำรวจจิตใจหรือความรู้สึกของตัวเองก็เป็นอีกหนึ่งกุญแจสำคัญในการทำลายวงจรของอาการสนิมเกาะ
3. เรียนรู้และปรับตัวอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
นอกจากเราทุกคนจะมีความแตกต่างกันแล้ว ตัวตนและความต้องเราก็สามารถเปลี่ยนไปตามกาลเวลาได้ด้วยเช่นกัน ผู้นำจึงจะต้องพร้อมที่จะเรียนรู้จากประสบการณ์และปรับพฤติกรรมของตัวเองจากบทเรียนนั้น และควรมองอาการหมดไฟแต่ละครั้งเป็นโอกาสสำหรับการเติบโต การเข้าใจตัวเองมากขึ้น และการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดี จงอย่าทำผิดในเรื่องเดิมและจงพัฒนาขึ้นให้ดีกว่าเดิม
4. เป็นตัวอย่างที่ดีในการสร้างขอบเขต
ในฐานะผู้นำ เราจะเป็นคนกำหนดทิศทางของทีมและองค์กร หากเราสร้างขอบเขตได้ไม่ดี ทีมของเราก็จะได้รับผลกระทบไปตาม ๆ กัน ในทางกลับกัน หากเราเป็นตัวอย่างที่ดีของการมีสมดุลระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิต การดูแลตัวเอง และการสร้างขอบเขต เราก็จะสามารถวัฒนธรรมองค์กรที่สนับสนุนสุขภาวะและความสำเร็จที่ยืนยง
โดยสรุปแล้ว สถานการณ์ตัวอย่างข้างต้นแสดงให้เห็นถึงบทเรียนเรื่องอาการหมดไฟและสนิมเกาะแก่ผู้นำทุกระดับ สิ่งที่สำคัญคือการเปลี่ยนมุมมองเรื่องความเป็นผู้นำจากการแข่งขันภายนอกสู่การพัฒนาตนเองจากภายใน นอกจากนี้ การให้ความสำคัญกับการดูแลตัวเอง การยอมรับความเปลี่ยนแปลงจากภายใน และการเป็นตัวอย่างที่ดีในการสร้างขอบเขตสามารถช่วยให้รับมือกับอาการหมดไฟและสนิมเกาะ สุดท้ายนี้ ข้อคิดที่อยากฝากไว้คือ “ความเป็นผู้นำที่แท้จริงจะต้องเริ่มต้นจากการมีภาวะผู้นำในตนเอง” นั่นเอง
HR องค์กรใด อยากบอกรักพนักงานแบบเกร๋ๆ เท่ๆ แนว HR ยุคใหม่ ที่ดูเเลแบบนั่งอยู่ในใจพนักงาน ลองติดต่อ Solution ปรึกษานักจิตวิทยาจาก Relationflip : Innovative Mental Healthcare Web Application ที่พร้อมช่วยพนักงานของคุณดีลกับปัญหาและเป็นที่ปรึกษาในทุกๆ เรื่องนะคะ Tel: 099-0026888 #InnovativeMentalHealthcare #MentalHealthcareService #Relationflip
Reference: https://www.psychologytoday.com/us/blog/mental-health-in-the-workplace/202309/beyond-burnout