บทความน่ารู้

ความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้น…เมื่อมองงานเป็นการสร้างประวัติศาสตร์องค์กร

         “มาทำงานเหมือนมาออกรบ กว่าจะจบวันแทบกระอักเลือด” คงเป็นแคปชั่นที่โดนใจมนุษย์เงินเดือนหลาย ๆ คนที่กำลังรู้สึกจิตใจห่อเหี่ยว หมดไฟ และไร้แรงบันดาลใจเพราะงานที่ทำอยู่ อาการเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องที่แปลกใหม่สักเท่าไหร่ อย่างไรก็เป็นเรื่องที่รู้กันดีว่าการทำงานไม่ได้มาคู่กับความสุขเสมอ แต่เราสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างไรบ้าง หางานใหม่? หรือต้องถูกสลากกินแบ่งรัฐบาลจนร่ำรวยขึ้นมาชั่วข้ามคืน? คำตอบของคำถามข้อนี้มีเพียงหนึ่งเดียว นั่นคือ “การปรับทัศนคติ” ที่พูดง่ายแต่ทำยากนั่นเอง

 

ทัศนคติคือทุกสิ่ง

         การบอกตัวเองว่า “เราจะต้องมีทัศนคติเชิงบวกต่อการทำงาน” เป็นเรื่องหนึ่ง แต่การจะมีทัศนคติเช่นนั้นได้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง โดยเฉพาะเมื่อคติเตือนใจอย่าง “Fake it till you make it” หรือหลอกตัวเองว่าทำได้จนกว่าจะทำได้จริง ๆ ไม่ได้ช่วยอะไรสักเท่าไหร่

         ในกรณีของการทำงาน วิธีที่ดีที่สุดในการเปลี่ยนทัศนคติของเราคือการมองงานที่ทำเป็นแรงขับเคลื่อนที่นำไปสู่ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่และยั่งยืนขององค์กร ข้อเท็จจริงข้อหนึ่งคือการที่เราต้องทำงานจำเจ (เช่น ไล่ตอบอีเมล หรือร่างเอกสารมากมาย) อาจทำให้หลงลืมไปว่ากำลังทำงานเพื่อจุดหมายที่ยิ่งใหญ่มากกว่านั้น ในฐานะลูกจ้างขององค์กร เราเปรียบเสมือนฟันเฟืองที่หมุนไปเรื่อย ๆ เพื่อสนับสนุนให้ทั้งระบบคงอยู่และทำงานต่อได้ หากไม่มีฟันเฟืองก็ไม่มีระบบ หากไม่มีลูกจ้างก็ไม่มีองค์กรเช่นกัน อาจกล่าวได้ว่าสรรพสิ่งทุกอย่างรอบตัวเราคือวิถีชีวิตที่ถูกสร้างขึ้นมาด้วยมือของพวกเรานั่นเอง

 

คิดอย่างภารโรงขององค์การนาซา (NASA)

         เมื่อครั้งประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดีเดินทางไปตรวจเยี่ยมองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือที่รู้จักกันดีในชื่อขององค์การนาซา (NASA) เป็นครั้งแรกในปีค.ศ. 1962 เขาได้พบกับภารโรงคนหนึ่งที่กำลังง่วนทำงานอยู่ในโถงทางเดิน ประธานาธิบดีเคนเนดีจึงถามภารโรงคนนั้นว่ากำลังทำอะไรอยู่ และเขาก็ตอบกลับมาอย่างภาคภูมิใจว่า “ผมกำลังช่วยส่งมนุษย์ไปพิชิตดวงจันทร์อยู่ครับ”

         ในขณะที่ภารโรงคนอื่นอาจตอบว่าพวกเขาเพียงกวาดพื้นอยู่ ภารโรงคนนี้กลับเข้าใจว่างานของเขาไม่ใช่เพียงสิ่งที่อยู่ในข้อมูลอาชีพ แต่เป็นถึงส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์องค์กร สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากเหตุการณ์นี้คือ เมื่อเราคิดว่างานของเราเป็นเพียงแค่อาชีพที่ทำ เราก็จะพลาดโอกาสในการมองเห็นตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจองค์กร หรือเป็นสมาชิกของทีมที่จะสร้างประวัติศาสตร์นั่นเอง

 

ให้ความสำคัญกับการสร้างประวัติศาสตร์

         วิธีที่ง่ายที่สุดในการเริ่มให้ความสำคัญกับการสร้างประวัติศาสตร์องค์กร คือ การถามตัวเองว่าเป้าหมายในการทำงานที่เราต้องการทำให้สำเร็จมากที่สุดคือสิ่งใด ทำไมเราจึงไขว่คว้าและเลือกรับงานนี้ตั้งแต่ต้น

         คำถามเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งสำหรับคนที่แรงบันดาลใจที่เคยพุ่งแรงมอดดับลงไป เช่น สมมติว่าเราเป็น Creative Director (ผู้กำกับศิลป์) ของบริษัทโฆษณาแห่งหนึ่ง ซึ่งกำลังหัวเสียกับลูกค้าที่มักจะเลือกอะไรที่จืดชืดและไม่มีความสร้างสรรค์ เราควรจะจัดการกับเรื่องนี้อย่างไร?

         คำตอบคือการปรับเปลี่ยนความคิดของเรา จากการคิดว่า “ลูกค้าคนนี้เป็นคนเขลา” ให้เปลี่ยนเป็น “ฉันอยากทำงานกับลูกค้าที่ตัดสินใจเลือกสิ่งที่สร้างสรรค์และฉีกแนวมากกว่านี้” การกลับไปสู่สิ่งที่ดึงดูดให้เรามาสนใจสายงานหรือองค์กรนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะการเอาแต่สนใจสิ่งที่ไม่ต้องการมีแต่จะนำพาสิ่งนั้นมาสู่เรานั่นเอง

         นอกจากนี้ การทำตามเป้าหมายที่นอกเหนือจากการทำงานยังสามารถเพิ่มความพึงพอใจในงานของเราอีกด้วย ซึ่งจะส่งผลให้เรามีความมุ่งมั่นในการสร้างประวัติศาสตร์ขององค์กรมากยิ่งขึ้น

 

จุดแข็งเป็นสิ่งสำคัญ

         เคยพิจารณาไหมว่าอะไรคือสิ่งที่เราทำได้ดี? เพราะสิ่งที่ควรทำคือการสร้างรายการจุดแข็งในที่ทำงานของเรา และลองถามตัวเองดูว่าเราได้นำจุดแข็งเหล่านั้นออกมาใช้อย่างเหมาะสมไหม หากเป็นไปได้ ลองแบ่งปันจุดแข็งให้หัวหน้าหรือผู้ที่ดูแลเราฟัง และช่วยกันหาวิธีที่องค์กรสามารถลงทุนกับจุดแข็งเหล่านั้น โดยผู้ควบคุมดูแลงานที่ให้ความสำคัญกับองค์กรจะเห็นประโยชน์จากเรื่องนี้และไม่ลังเลที่จะลงมือช่วยเหลือ

         องค์กรส่วนมากจะมีรายการ Core values หรือค่านิยมองค์กรเป็นของตัวเอง แต่มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่อธิบายภารกิจขององค์กรให้พนักงานอย่างชัดเจน ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว การเข้าใจภารกิจขององค์กรเป็นสิ่งที่สำคัญเป็นอย่างมาก เพราะจะช่วยให้พนักงานรู้สึกว่ากำลังทำงานเพื่อสิ่งที่ยิ่งใหญ่ และเนื่องจากพวกเขาได้ค้นหาจุดแข็งของตัวเองแล้ว พวกเขาก็จะสามารถทำงานที่ส่งเสริมกับจุดแข็งของตัวเอง และมองงานเป็นภารกิจไม่ใช่เพียงอาชีพที่ทำอยู่

         เพราะฉะนั้น การทำให้ภารกิจองค์กรเป็นเรื่องที่อยู่ในใจพนักงานทุกคนจึงเป็นสิ่งที่ควรทำ เพราะนอกจากจะช่วยเปลี่ยนความรู้สึกที่มีต่องานแล้ว ยังช่วยเปลี่ยนความรู้สึกที่มีต่อตัวเองอีกด้วยนั่นเอง

 

 

         HR องค์กรใด อยากบอกรักพนักงานแบบเกร๋ๆ เท่ๆ แนว HR ยุคใหม่ ที่ดูเเลแบบนั่งอยู่ในใจพนักงาน ลองติดต่อ Solution ปรึกษานักจิตวิทยาจาก Relationflip : Innovative Mental Healthcare Web Application ที่พร้อมช่วยพนักงานของคุณดีลกับปัญหาและเป็นที่ปรึกษาในทุกๆ เรื่องนะคะ Tel: 099-0026888 #InnovativeMentalHealthcare #MentalHealthcareService #Relationflip

Reference: https://www.psychologytoday.com/us/blog/recover-girl/202311/thinking-of-your-job-as-part-of-a-legacy-changes-everything