บทความน่ารู้

10 วิธีขจัดอารมณ์ขุ่นมัวอย่างรวดเร็ว

          เราต่างเคยมีช่วงเวลาที่อารมณ์ไม่ดีกันทั้งนั้น แต่ในท้ายที่สุดก็จะสามารถเอาตัวเองออกมาจากอารมณ์นั้นได้ แม้อาจจะต้องใช้เวลาไปบ้างก็ตาม เหตุผลหลัก ๆ ที่เราไม่สามารถเอาตัวเองออกมาได้เร็วกว่าที่เป็นคือการที่เราไม่สามารถสลัดอารมณ์ขั้วลบออกไปได้หากเราไม่รู้สาเหตุของมันนั่นเอง

          เพราะฉะนั้นในครั้งหน้าที่อารมณ์ขั้วลบมาเยือน อย่ามัวแต่รอให้จิตใจขุ่นหมองแล้วลองหาวิธีที่ทำให้อารมณ์ดีขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าขั้นตอนแรกก็คือการตามหาต้นเหตุที่ทำให้เกิดอารมณ์นั้น

 

สาเหตุทั่วไปที่ทำให้เกิดอารมณ์ขั้วลบ (รวมถึงวิธีรับมือ) ได้แก่:

 

1. ความรู้สึกผิด

          เพียงความรู้สึกผิดเล็กน้อยก็สามารถส่งผลกระทบอันใหญ่หลวงกับอารมณ์ของเราได้ เช่น การลืมวันเกิดของใครสักคนก็ทำให้เรารู้สึกผิดได้แม้จะขอโทษไปแล้วก็ตาม วิธีที่ดีที่สุดในการจัดการกับความรู้สึกผิด

คือการชดเชยการกระทำของตัวเอง เช่น การส่งคำขอโทษที่น่ารักหรือตลกขบขัน หรือของขวัญเล็ก ๆ ให้ เจ้าของวันเกิดก็จะรู้สึกขอบคุณในการกระทำที่ใส่ใจ และเราก็จะรู้สึกดีขึ้นเมื่อเรากดส่งนั่นเอง

 

2. การรู้สึกเหมือนโดนปฏิเสธเล็ก ๆ

          การรู้สึกเหมือนโดนปฏิเสธเล็ก ๆ เป็นอาการบาดเจ็บทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นโดยทั่วไป โดยเฉพาะในยุคของโซเชียลมีเดีย เมื่อเราลงรูปตอนไปเที่ยวแล้วไม่มีใครมาสนใจหรือกดไลค์ให้ มันอาจทำให้รู้สึกเจ็บปวดอยู่บ้าง แต่เราก็ไม่ควรที่จะเก็บมาคิดเพราะอย่างไรเราก็ไม่รู้สาเหตุที่ไม่มีใครว่างมากดไลค์ให้กับเรา ผู้คนมักจะเข้าโซเชียลมีเดียในช่วงเวลารีบเร่งฉุกละหุกอย่างตอนรอลิฟต์หรือตอนรถติด เพราะฉะนั้นการที่คนใกล้ชิดยังไม่มีกดไลค์ก็อาจจะเป็นเพราะกำลังยุ่งอยู่ก็ได้ สิ่งที่สามารถทำได้คือการส่งรูปนั้นไปหาคนที่อยากให้เห็นเป็นการส่วนตัว เพื่อที่จะได้รับความสนใจอย่างที่ต้องการ

 

3. สิ่งสำคัญที่ต้องทำ

          รายการสิ่งที่ต้องทำที่วางแผนเอาไว้อาจอยู่ภายในใจลึก ๆ และคอยย้ำเตือนให้รู้ตัวว่ายังทำไม่สำเร็จเป็นระลอก ๆ จนทำให้อารมณ์ขุ่นมัว แต่ในความเป็นจริงแล้ว เราไม่จำเป็นต้องทำทุกงานที่สำคัญเพื่อทำให้อารมณ์ดีขึ้น ผลวิจัยได้เผยว่าเพียงสามารถทำงานเล็ก ๆ น้อย ๆ ได้สำเร็จก็สามารถขจัดการย้ำเตือนในจิตใจและทำให้อารมณ์ดีขึ้นได้แล้ว เพราะฉะนั้นจงอย่าเมินเฉยและตัดสินใจว่าจะทำสิ่งที่ต้องทำตอนไหน ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ก็ให้ตั้งนาฬิกาหรือแปะโพสต์อิทเตือนเอาไว้ แล้วอารมณ์ขุ่นมัวก็จะค่อย ๆ คลายลงไปเอง

 

4. อาการครุ่นวิตก

          หลาย ๆ คนคงติดอยู่ในวังวนของการเล่นฉากที่น่าหงุดหงิดที่เกิดขึ้นเมื่อหลายวันก่อน หลายสัปดาห์ก่อน หรือแม้กระทั่งหลายเดือนก่อนขึ้นมาในสมอง เมื่อเริ่มมีอาการเอาแต่คิดซ้ำ ๆ เช่นนี้ ให้ใช้เทคนิคการเบี่ยงเบนความสนใจเพื่อลดความรุนแรงและความถี่ของอาการ โดยงานวิจัยค้นพบว่าแม้กระทั่งการเบี่ยงเบนความสนใจสั้น ๆ เพียง 2 นาที (เช่น การเล่นปริศนาคำไขว้ ซูโดกุ หรือเกม Candy Crush) ก็เพียงพอที่จะทำลายความคิดน่าวิตกและฟื้นฟูอารมณ์ของเราแล้ว

 

5. มีวันที่รู้สึกไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง

          ดังเช่น Bad hair day หรือวันที่ผมของเราจะไม่เป็นทรงขึ้นมาเสียดื้อ ๆ ในบางวันเราก็ตื่นมาแล้วรู้สึกแย่กับตัวเองโดยไม่มีเหตุผล การเห็นคุณค่าในตนเองของเราทุกคนมีแนวโน้มที่จะแปรผันอยู่เรื่อย ๆ อยู่แล้ว แต่ก็เป็นเรื่องสำคัญที่จะประคองมันขึ้นมาเมื่อมันลดลง ดังนั้น เมื่อเรารู้สึกไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง จงทำอะไรสักอย่างที่ทำให้รู้สึกดีกับตัวเองมากขึ้น เช่น ลุกขึ้นมาออกกำลังกายเพื่อให้ร่างกายหลั่งสารเอ็นดอร์ฟินส์ ใส่เสื้อผ้าที่ชอบ วางแผนทำสิ่งที่จะตั้งตารอ หรือโทรหาใครสักคนที่ชอบเราที่เป็นตัวเราและทำให้เรารู้สึกดีที่เป็นตัวเอง

 

6. ความหวาดกลัวการล้มเหลว

          มนุษย์เราสามารถกังวลเกี่ยวกับการแข่งกีฬา การนำเสนองาน หรือวันการประเมินประจำปีล่วงหน้าเป็นวันหรือสัปดาห์ก่อนกำหนดการจริง วิธีการแก้ไขปัญหานี้คือการเบนความสนใจไปที่สิ่งที่อยู่ใต้การควบคุมของเรา เช่น การเตรียมพร้อมร่างกาย การสานสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานเพื่อเป็นแรงสนับสนุนให้กันและกัน หรือฝึกการพูดหน้ากระจกให้ชำนาญเพื่อช่วยลดความหวาดกลัวการล้มเหลวและอารมณ์ยุ่งเหยิงที่มาควบคู่กัน

 

7. รู้สึกตัดขาดจากผู้คนรอบตัว

          ชีวิตที่ยุ่งวุ่นวายอาจทำให้เราเมินเฉยต่อความต้องการทางสังคมและความต้องการด้านอารมณ์ความรู้สึก จนเริ่มที่จะรู้สึกเหมือนตัดการเชื่อมต่อกับผู้คนรอบตัว เพื่อก้าวผ่านความรู้สึกนี้ ควรโทรหาคนที่เรารักหรือหยุดพักเพื่อใช้เวลากับคนในครอบครัวหรือสัตว์เลี้ยง เพราะงานวิจัยได้ค้นพบว่าแม้แต่การปฏิสัมพันธ์สั้น ๆ กับคนรู้จักก็สามารถทำให้อารมณ์ดีขึ้นได้

 

8. จมปลักอยู่ในเรื่องน่ารำคาญเล็ก ๆ น้อย ๆ

          ในชีวิตอันแสนวุ่นวาย เรื่องน่ารำคาญเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างบิลค่าโทรศัพท์ที่คำนวณผิด อินเตอร์เน็ตมีปัญหา หรือรถยนต์ดับขณะขับ ล้วนกลายเป็นเรื่องใหญ่ที่ขัดให้เสียอารมณ์ได้ จึงควรปรับมุมมองแล้วมองภาพที่ใหญ่ขึ้นเพื่อฟื้นฟูอารมณ์ให้กลับมาดีดังเดิม ลองใช้ “คำถาม 1 ปี” ที่ถามว่า “สิ่งนี้เป็นเรื่องที่เราจะยังจำได้หลังผ่านไป 1 ปีไหม” ถ้าไม่ มันก็ไม่ใช่สิ่งที่ควรค่าพอจะมารบกวนใจหรอก หรืออีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยทำให้ใจสงบลงได้เร็วคือการคิดถึงสิ่งที่รู้สึกของคุณสัก 5 สิ่ง เช่น ครอบครัวมีสุขภาพที่ดี เรามีเพื่อนที่ใส่ใจ มีงานที่ดี เป็นต้น

 

9. ความหิวโหย

          สาเหตุที่ 9 ค่อนข้างเป็นเรื่องที่ชัดเจนแต่ผู้คนมักหลงลืมไป ความหิวโหยส่งผลกระทบต่ออารมณ์ของเรามากกว่าที่เราคิด เพราะฉะนั้นจงอย่าปล่อยให้ท้องว่างนานเกินไป

 

10. ความเหนื่อยอ่อนจนหมดแรง

          คล้ายกับสาเหตุที่ 9 ความเหนื่อยอ่อนก็เป็นสาเหตุที่ชัดเจนแต่ผู้คนมักหลงลืมเช่นกัน ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ได้มีเพียงเด็กเล็กที่อารมณ์ฉุนเฉียวเวลาเหนื่อย ผู้ใหญ่เองเมื่อนอนหลับไม่เพียงพอก็มีผลกระทบต่อความคิด ความสร้างสรรค์ และสภาวะอารมณ์เช่นกัน เพราะฉะนั้นหากเป็นไปได้ก็ควรนอนงีบสัก 15 นาทีเพื่อเติมพลังและดึงตัวเองออกจากความเฉื่อยชา

 

 

         HR องค์กรใด อยากบอกรักพนักงานแบบเกร๋ๆ เท่ๆ แนว HR ยุคใหม่ ที่ดูเเลแบบนั่งอยู่ในใจพนักงาน ลองติดต่อ Solution ปรึกษานักจิตวิทยาจาก Relationflip : Innovative Mental Healthcare Web Application ที่พร้อมช่วยพนักงานของคุณดีลกับปัญหาและเป็นที่ปรึกษาในทุกๆ เรื่องนะคะ Tel: 099-0026888 #InnovativeMentalHealthcare #MentalHealthcareService #Relationflip

Reference: https://www.psychologytoday.com/intl/blog/the-squeaky-wheel/201409/10-ways-escape-bad-mood-fast