บทความน่ารู้

เคล็ดลับเอาชนะนิสัยยอดแย่ในการสนทนา

          เคยเจอเพื่อนที่ชอบพูดจบประโยคให้คุณทั้งที่คุณกำลังพูดอยู่บ้างไหม? พวกเขาเหล่านั้นมั่นใจว่าตัวเองสามารถพูดในสิ่งที่คุณคิดได้ แต่บ่อยครั้งก็ไม่ได้เดาใจคุณถูก เพราะในความเป็นจริงแล้วไม่ว่าพวกเขาจะคิดว่าตัวเองรู้จักคุณดีมากแค่ไหน พวกเขาก็ไม่มีทางรู้เลยว่าคุณคิดเห็นอย่างไรหรือต้องการพูดสิ่งใดจนกว่าจะรับฟังคุณ

          หนึ่งในนิสัยที่ควรปรับปรุงมากที่สุดในการสื่อสาร คือ การคาดเดาความคิดและความต้องการของคู่สนทนาทั้งที่ไม่ได้ฟังอีกฝ่าย เพราะคุณจะเลิกฟังในสิ่งที่อีกฝ่ายพูดทันทีเมื่อคุณ “คิดว่าคุณรู้” ว่าเขากำลังคิดหรือกำลังจะพูดอะไร แต่การคิดว่าคุณสามารถรู้ใจเขาโดยไม่ต้องฟังหรือสนใจในสิ่งที่เขาพูดก็เป็นความคิดที่ผิดและบั่นทอนความสัมพันธ์ เพราะแม้จะรู้จักกันมาครึ่งค่อนชีวิต การรู้จักคนคนหนึ่งก็ไม่ได้แปลว่าจะสามารถเข้าใจชีวิตของเขาได้ดีเท่ากับตัวเขาเอง การปรับปรุงนิสัยนี้จึงเป็นเรื่องที่สมควรทำเพื่อสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพและรักษาความสัมพันธ์ให้ดียิ่งขึ้น

 

หยุดรู้ดี…เริ่มรับฟัง

          การประยุกต์ใช้ทักษะการโค้ชสามารถเสริมสร้างนิสัยการฟังที่ดีได้ เช่น เพื่อที่จะกำหนดทิศทางของการพูดคุย โค้ชจะต้องพูดซักถามสิ่งที่ผู้รับการโค้ชต้องการสร้างหรือเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนตั้งแต่เนิ่น ๆ เพราะยิ่งโค้ชพยายามเข้าใจความหมายของคำหรือประโยคที่ผู้รับการโค้ชเน้นย้ำมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีโอกาสที่ทั้งสองฝ่ายจะเห็นจุดหมายที่ตรงกันว่าอะไรคือสิ่งที่ตัวผู้รับต้องการอย่างแท้จริง ในทางกลับกัน หากไม่มีการพูดคุยอย่างชัดเจนเกี่ยวกับผลลัพธ์ที่ผู้รับการโค้ชมองหา ก็อาจเป็นเพียงการพูดคุยถึงปัญหาที่ไม่สามารถหาวิธีแก้ไขที่ส่งผลระยะยาวได้ในที่สุด ส่งผลให้ปัญหานั้นมีโอกาสกลับมาอีกครั้งเมื่อเจอสถานการณ์ที่ใกล้เคียง

          ถ้าสิ่งที่ผู้รับการโค้ชต้องการไม่ชัดเจนและไม่สามารถสังเกตได้ง่าย เช่น ต้องการมีความมั่นใจเพิ่มขึ้น หรือต้องการตื่นนอนด้วยความรู้สึกมุ่งมั่นในการทำสิ่งต่าง ๆ หน้าที่ของโค้ชคือการถามว่า “ความมั่นใจ” หรือ “ความรู้สึกมุ่งมั่น” มีความหมายอย่างไรสำหรับผู้รับการโค้ช และอะไรคือสิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงไปเมื่อพวกเขารู้สึกเช่นนั้น หลังจากนั้น โค้ชก็จะอธิบายภาพความต้องการที่ชัดเจนขึ้นให้ผู้รับการโค้ชฟังเพื่อทำให้มั่นใจว่าทั้งสองฝ่ายเข้าใจตรงกันโดยปราศจากการคาดเดาขึ้นมาเอง การกระทำเช่นนี้จะช่วยให้โค้ชสามารถให้ความสนใจกับจุดที่ควรแก้ไขเพื่อไปสู่ผลลัพธ์ที่ต้องการ

          คุณสามารถใช้ทักษะการโค้ชในทุกบทสนทนาเพื่อจำกัดการสร้างสมมติฐานที่ไม่มีมูลความจริงและเพื่อจับคำสำคัญที่อีกฝ่ายใช้ ก้าวแรกที่สำคัญคือการไม่คาดเดา อย่าคิดว่าตัวเองรู้ความคิดของเขาจนกว่าจะตรวจเช็คว่าเข้าใจตรงกัน

          เมื่อคุณสามารถโบกมือลานิสัย “รู้อยู่แล้ว” ไปได้ คุณก็จะสามารถเชื่อมต่อความสัมพันธ์กับคนรอบตัวได้อย่างลึกซึ้งขึ้น เพราะฉะนั้นจงมีความสงสัยใคร่รู้ในสิ่งที่ผู้อื่นพูดและคอยเช็คอยู่เสมอว่าเข้าใจถูกต้อง เพราะนอกจากจะทำให้การสนทนาราบรื่นแล้ว ยังเป็นการทำให้คู่สนทนารู้สึกได้รับเกียรติและได้รับการรับฟังอีกด้วย

 

ความกล้าที่จะสงสัยใคร่รู้

          การปล่อยวางในสิ่งที่เรารู้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความกล้าหาญและความตั้งมั่นในการปล่อยให้ตัวเองอยู่ในความไม่รู้ หากความภาคภูมิใจของคุณคือการรู้ว่าคนอื่นคิดอย่างไร ความไม่รู้อาจกลายเป็นสิ่งที่ทำให้คุณรู้สึกไม่มั่นคงและไม่มั่นใจขึ้นมาได้ ทว่าสิ่งที่ตรงข้ามกับการไม่รู้ความคิดของคนอื่นไม่ใช่การไม่รู้อะไรเลยเสมอไป แต่มันอาจเป็นการที่คุณสงสัยใคร่รู้ จึงเหลือพื้นที่เอาไว้ให้คำพูดของอีกฝ่ายมาเติมเต็ม

          Dacher Keltner ได้กล่าวไว้ในหนังสือเรื่อง Awe: The New Science of Everyday Wonder and How It Can Transform Your Life ว่า “มีโอกาสมากมายในการพบอารมณ์มหัศจรรย์ในแต่ละวัน” Keltner นิยามอารมณ์มหัศจรรย์ (Awe) ว่าเป็นส่วนผสมของความชื่นชม ความสงสัยใคร่รู้ และความรู้คุณค่าอย่างลึกซึ้ง เมื่อคุณเปิดใจรับความพิศวงใจที่เกิดขึ้น คุณก็จะสามารถรู้สึกถึงความเป็นอิสระจากเรื่องทางโลกและปล่อยตัวปล่อยใจไปกับช่วงเวลาที่เกิดขึ้นได้

          คำถามสำคัญคือ คุณจะสามารถใช้ความพิศวงเพื่อกระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นได้ไหม? สามารถปล่อยวางจากการคาดเดาคำพูดของคนอื่นอย่างรวดเร็วและการเป็นยอดมนุษย์ที่สามารถเดาใจผู้อื่นได้หรือเปล่า? อย่าปล่อยให้ความต้องการควบคุมคุณอีกต่อไป จงใช้เวลาไปกับการรับรู้และชื่นชมเรื่องราวของคู่สนทนาที่น่าสนใจของคุณ

 

เอาชนะความต้องรู้

          Hal Gregersen ผู้เชี่ยวชาญด้านความเป็นผู้นำและการริเริ่มเสนอแนะให้เงียบเอาไว้ก่อน และตระหนักว่าตัวเองสามารถผิดพลาดได้ เขากล่าวเอาไว้ว่า “อย่าเพียงแค่สงสัยใคร่รู้ จงถามตัวเองด้วยว่าความผิดพลาดของตัวเองคืออะไร แล้วยอมรับในสิ่งที่เพิ่งจะมองเห็นหลังวางความต้องรู้นั้นลง” การปล่อยวางความต้องรู้อย่างหาญกล้าจะทำให้สามารถสานสัมพันธ์กับผู้อื่นได้อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้นนั่นเอง

 

          เพื่อที่จะเป็นผู้ร่วมสนทนาที่ดีขึ้น คุณควรละทิ้งนิสัยที่จะต้องรู้ความคิดของคนอื่นและแทนที่ด้วยการสนทนาอย่างสร้างสรรค์ จงสนใจที่จะได้รู้ในสิ่งที่คุณไม่รู้ มองทุกสิ่งเป็นเรื่องใหม่เพื่อที่จะไม่พลาดในความเปลี่ยนแปลงใดใดที่เกิดขึ้น และยอมรับว่าแท้จริงแล้วการไม่รู้ก็เป็นเรื่องที่น่าสนุกเช่นกัน

 

 

         HR องค์กรใด อยากบอกรักพนักงานแบบเกร๋ๆ เท่ๆ แนว HR ยุคใหม่ ที่ดูเเลแบบนั่งอยู่ในใจพนักงาน ลองติดต่อ Solution ปรึกษานักจิตวิทยาจาก Relationflip : Innovative Mental Healthcare Web Application ที่พร้อมช่วยพนักงานของคุณดีลกับปัญหาและเป็นที่ปรึกษาในทุกๆ เรื่องนะคะ Tel: 099-0026888 #InnovativeMentalHealthcare #MentalHealthcareService #Relationflip

Reference: https://www.psychologytoday.com/us/blog/wander-woman/202306/tips-for-overriding-the-worst-communication-habit