บทความน่ารู้

เมื่อความรู้สึก…ไม่ใช่ความรู้สึก

          หนึ่งในด้านที่สำคัญที่สุดของการสื่อสารที่ดีคือการสามารถแบ่งปันความรู้สึก ความคิด และความต้องการอย่างสุภาพ แต่จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อคำบอกอารมณ์ที่ถูกใช้อยู่บ่อย ๆ กลับเป็นเพียงความคิดและการคาดเดาเกี่ยวกับสิ่งที่คนอื่นทำกับเรา

 

          ลองพิจารณาดูว่ามีประโยคใดต่อไปนี้คุ้นหูบ้างไหม บางประโยคอาจเป็นสิ่งที่เราเคยพูด คิด หรือเคยได้ยินมาแล้ว:

          “ฉันรู้สึกถูกทอดทิ้ง”

          “ฉันรู้สึกถูกควบคุม”

          “ฉันรู้สึกเหมือนโดนหักหลัง”

          ถึงแม้ว่าประโยคเหล่านี้จะดูเหมือนเป็นการแสดงอารมณ์ แต่คำประเภท “ถูกทอดทิ้ง” “ถูกควบคุม” หรือ “เหมือนโดนหักหลัง” ไม่ใช่อารมณ์ความรู้สึก แต่เป็นคำที่ใช้อธิบายสิ่งที่เราคิดว่าผู้อื่นทำกับเรา Marshall Rosenberg นักจิตวิทยา นักเขียน และผู้ก่อตั้ง Non-Violent Communication ได้นิยามคำเหล่านี้ว่า “pseudo-feelings” ที่แปลง่าย ๆ ว่าความรู้สึกเท็จ

 

          นอกเหนือจากตัวอย่างข้างต้น ยังมี pseudo-feelings ที่ถูกเข้าใจผิดว่าเป็นอารมณ์ของมนุษย์อีกมาก เช่น: 

-  รู้สึกถูกกล่าวโทษ

-  รู้สึกถูกตัดสิน

-  รู้สึกถูกเมินเฉย

-  รู้สึกไม่ได้รับความขอบคุณในบุญคุณ

-  รู้สึกไม่ถูกรัก

-  รู้สึกถูกหลอกใช้

-  รู้สึกถูกปฏิเสธ

-  รู้สึกถูกละเลย

-  รู้สึกถูกทอดทิ้ง

-  รู้สึกถูกเข้าใจผิด

-  รู้สึกกดดัน

          ลิสต์ข้างต้นไม่ได้ยกตัวอย่างมาอย่างหมดจดเกินไป เพียงแต่คอนเส็ปนี้อาจจะยังใหม่จึงไม่คุ้นชินนัก อย่างไรก็ตาม เป็นที่เห็นได้ชัดว่าคำเหล่านี้คือข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับการปฏิบัติของคนอื่นที่มีต่อเรา และสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้งเมื่อคนใช้ pseudo-feelings ในบทสนทนาคือการทำให้ผู้ฟังเกิดความรู้สึกต่อต้าน เพราะ “ความรู้สึก” นั้นฟังดูกล่าวถึงผู้ฟังมากกว่าผู้พูด

          เมื่อเรามีอารมณ์หนึ่งเกิดขึ้นมา อารมณ์นั้นก็จะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในตัวเรา เป็นข้อเท็จจริงและประสบการณ์ของเราเอง ไม่มีใครสามารถปฏิเสธตัวตนของความรู้สึกที่เรามีได้ เพราะฉะนั้นหากเราบอกใครว่าเรารู้สึกเศร้า นั่นก็เป็นสิ่งที่เรารู้สึกจากภายในตัวเรา แต่ถ้าหากเราบอกใครว่าเรารู้สึกถูกตัดสิน ก็เหมือนกับว่าเรากำลังบอกกล่าว สันนิษฐาน หรือกล่าวหาอีกฝ่ายว่ามาตัดสินเรา ซึ่งส่งผลให้โอกาสในการสานสัมพันธ์ การมีบทสนทนาที่ชัดเจน และการค้นหาทางออกร่วมกันลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

          โดยปกติแล้ว เมื่อเราแสดงอารมณ์ต่อใครคนหนึ่ง เรามักจะมีความต้องการบางอย่างอยู่ลึก ๆ ที่เชื่อมต่อกับอารมณ์เหล่านั้น และเนื่องจาก pseudo-feelings มักจะกระตุ้นอารมณ์ต่อต้านขึ้นมาในผู้ฟัง การใช้คำเหล่านั้นจะไม่ช่วยให้เราได้ในสิ่งที่ต้องการ ซ้ำยังส่งผลตรงกันข้ามอีกด้วย

          ดังนั้น สิ่งที่เราควรปฏิบัติคือการค้นหาความรู้สึกที่แท้จริงและความต้องการของตัวเอง ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราคิดว่าเรา “รู้สึกโดนทอดทิ้ง” มันอาจหมายความว่าเรากำลังรู้สึกเจ็บปวด โกรธเคือง หรือหวาดกลัว ซึ่งความรู้สึกเหล่านี้สามารถบ่งชี้ถึงความต้องการแรงสนับสนุน การดำดิ่งไปกับความโศกเศร้า หรือความหวัง ถ้าเราคิดว่าเรา “รู้สึกถูกควบคุม” แท้จริงแล้วเราอาจรู้สึกโกรธเคืองหรือสับสน และต้องการที่จะเข้าใจหรือถูกเข้าใจ เป็นต้น

          โดยสรุปแล้ว ถ้าเราพบว่าตัวเองกำลังจดจ่อกับสิ่งที่คนอื่นทำกับเรา หรือว่าคนอื่น “ทำ” ให้เรารู้สึกอย่างไร ลองปรับความคิดเข้าหาตัวและค้นหาอารมณ์และความต้องการที่แท้จริงดู

          การพบความรู้สึกและความต้องการที่แท้จริงมักจะนำไปสู่ความชัดแจ้งในตัวเอง โดยเฉพาะถ้าเราทำด้วยความเห็นอกเห็นใจในตัวเอง เมื่อเราชัดเจนกับความต้องการที่มี เราก็จะสามารถเห็นทางออกว่าเราสามารถทำอะไรเพื่อตัวเองได้บ้าง หรือสามารถขอความช่วยเหลือจากคนอื่นอย่างสุภาพอย่างไรได้บ้าง

          การเฝ้าระวัง pseudo-feelings และให้ความสำคัญกับความรู้สึกและความต้องการที่แท้จริง จะส่งผลที่ดีต่อความสัมพันธ์ของเรากับตัวเองและผู้อื่นนั่นเอง

 

 

         HR องค์กรใด อยากบอกรักพนักงานแบบเกร๋ๆ เท่ๆ แนว HR ยุคใหม่ ที่ดูเเลแบบนั่งอยู่ในใจพนักงาน ลองติดต่อ Solution ปรึกษานักจิตวิทยาจาก Relationflip : Innovative Mental Healthcare Web Application ที่พร้อมช่วยพนักงานของคุณดีลกับปัญหาและเป็นที่ปรึกษาในทุกๆ เรื่องนะคะ Tel: 099-0026888 #InnovativeMentalHealthcare #MentalHealthcareService #Relationflip

Reference: https://www.psychologytoday.com/intl/blog/the-relatable-therapist/202309/when-a-feeling-is-not-really-a-feeling