บทความน่ารู้
4 วิธีพัฒนาการตระหนักรู้ตนเองในการทำงาน
คำว่า “ความฉลาดทางอารมณ์” หรือ Emotional intelligence คงเป็นคำที่คุ้นหูสำหรับใครหลาย ๆ คน โดยคอนเซ็ปต์นี้เริ่มได้รับความสนใจอย่างแพร่หลายจากหนังสือของ Dan Goleman ในปีค.ศ. 1995 และได้กลายมาเป็นหัวข้อการศึกษายอดนิยม มีการค้นพบประโยชน์ของความฉลาดทางอารมณ์มากมาย ทั้งในด้านชีวิตส่วนตัวและชีวิตการทำงาน และยังมีการค้นพบหลักฐานที่ว่าความฉลาดทางอารมณ์สามารถพัฒนาได้ด้วยการฝึกฝนอย่างตั้งใจอีกด้วย
โครงสร้างหลักของความฉลาดทางอารมณ์ครอบคลุมถึง 4 มิติ คือ การตระหนักรู้ตนเอง การจัดการตนเอง การตระหนักรู้ระหว่างบุคคล และการจัดการความสัมพันธ์ ซึ่งมิติของการตระหนักรู้ตนเองถือเป็นองค์ประกอบพื้นฐานที่ทำหน้าที่เป็นรากฐานของทักษะในการควบคุมอารมณ์อย่างมีประสิทธิภาพและทักษะด้านการปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล การฝึกฝนเพื่อพัฒนาการตระหนักรู้ทางอารมณ์ในด้านของการทำงานสามารถทำได้ดังนี้:
1. ให้ความสนใจกับอารมณ์ที่มีความเข้มข้นสูง และทำความรู้จักมัน
ผู้คนล้วนมีความแตกต่างในขอบเขตของระดับความเข้มข้นของประสบการณ์เชิงอารมณ์ในแต่ละวันและช่วงเวลา จึงเป็นเรื่องที่ดีที่จะให้ความสนใจกับเหตุการณ์ที่ทำให้อารมณ์อยู่ในระดับที่รุนแรงกว่าปกติ และลองพิจารณาดูว่าควรจะเรียกหรืออธิบายอารมณ์ในตอนนั้นว่าอะไร อย่าตกใจไปหากมันเป็นเรื่องที่ยากที่จะทำในตอนแรก เพราะเราไม่ได้เติบโตมากับการฝึกแยกแยะอารมณ์ความรู้สึกแบบละเอียดหรือเรียนรู้คำศัพท์มากมายและความหมายของพวกมันอย่างถ่องแท้เพื่อที่จะอธิบายหรือแสดงอารมณ์ของตนเอง
2. ทบทวนปัจจัยที่อาจช่วยอธิบายความรู้สึกในตอนนั้น
ลองพิจารณาดูว่าทำไมจึงเกิดอารมณ์นั้น (หรืออารมณ์เหล่านั้น) ในตอนนั้น แม้เราไม่อาจเสาะหาทุกปัจจัยที่เกี่ยวข้องอย่างแม่นยำได้ตลอดเวลา แต่การลองทำก็เป็นเรื่องที่สำคัญ หลักการสำคัญคือการมองเห็นแบบแผนซึ่งบ่งชี้ถึงวิธีที่เรามักตีความเรื่องราวต่าง ๆ จุดแข็งและจุดอ่อน รวมไปถึงจุดที่เราไม่ชอบให้ถูกพาดพิงจนเสียอารมณ์ การตระหนักรู้ถึงสิ่งเหล่านี้ซึ่งมีความเป็นปัจเจกบุคคลถือเป็นก้าวแรกในการบริหารจัดการพวกมันเพื่อความสุขและความประสิทธิผลของตัวเรา
3. โอบรับอารมณ์และสิ่งที่เกิดขึ้น
เมื่อเราสัมผัสได้ถึงอารมณ์เชิงลบที่รุนแรงหรือความรู้สึกไม่สบายใจในตัวเอง เรามักหาวิธีเพื่อที่จะหลีกหนีมัน การกระทำนี้ถือว่าสมเหตุสมผลแล้วเมื่อพิจารณาว่าการจมอยู่ในสภาวะอารมณ์เชิงลบคงไม่น่าอภิรมย์สักเท่าไหร่ แต่การพยายามหลีกหนีจากประสบการณ์อันเป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์อย่างรวดเร็วอยู่ตลอดจะทำให้เราเสียโอกาสในการเรียนรู้สิ่งที่สำคัญต่อการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ เพราะฉะนั้นจึงควรตั้งใจไม่หลีกนี้และเก็บเกี่ยวจากประสบการณ์อารมณ์นั้นว่าจะไปต่อในทิศทางใด และลองทบทวนตนเองด้วยคำถามเหล่านี้:
- อารมณ์เชิงลบที่กำลังเกิดขึ้นตอบสนองต่อเหตุการณ์หรือเรื่องราวก่อนหน้าเรื่องใด?
- เป็นไปได้ไหมที่การตอบสนองทางอารมณ์ที่เป็นเชิงลบของฉันรุนแรงกว่าคนอื่น ๆ ในสถานการณ์เดียวกัน? หากใช่ การตอบสนองของฉันบ่งชี้ถึงการตีความสถานการณ์ ประวัติส่วนตัว หรือแนวโน้มในการประพฤติตนในอดีตของฉันอย่างไรบ้าง?
- อะไรคือสิ่งที่ฉันจินตนาการถึงหรือกลัวว่าจะเกิดขึ้นหากฉันปล่อยให้ความรู้สึกยังคงอยู่โดยไม่พยายามต่อต้านมัน? ข้อสันนิษฐานนั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานของอะไร?
กระบวนการนี้เกี่ยวเนื่องกับการดึงตัวเองออกจากประสบการณ์เพื่อถอยหลังให้เห็นภาพรวมและทดสอบเกี่ยวกับตัวเอง บ่อยครั้งที่ผลจะออกมาว่าเราอาจมีการควบคุมเหนือการตอบสนองทางอารมณ์มากกว่าที่คิด และข้อสันนิษฐานหรือความกลัวที่มีต่อทางออกที่ความรู้สึกเชิงลบจะนำพาไปนั้นเป็นเพียงเรื่องที่คิดมากเกินไป
4. ร้องขอข้อเสนอแนะจากผู้อื่น
จนถึงตอนนี้เราได้ให้ความสำคัญกับการตระหนักรู้ตนเองที่เกี่ยวข้องกับประสบการณ์ด้านอารมณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาหนึ่ง รวมถึงแบบแผนของมันตามกาลเวลาและสถานการณ์ที่ดำเนินไปเรื่อย ๆ แต่ยังมีด้านที่สำคัญอีกด้านหนึ่งของการตระหนักรู้ตนเอง ซึ่งคือการรับรู้มุมมองของผู้อื่นที่มีต่อเรา เรามักมีข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับมุมมองของผู้อื่นที่มีต่อเราซึ่งสร้างขึ้นมาจากการวางตัวและเจตนาที่เราแสดงออกในความสัมพันธ์หรือเมื่อปฏิสัมพันธ์กับคนเหล่านั้น
มีความเป็นไปได้สูงที่จะมีความคลาดเคลื่อนระหว่างสิ่งที่เราคิดกับสิ่งที่ผู้อื่นคิด การรับรู้ถึงความคลาดเคลื่อนเหล่านั้นสามารถเป็นตัวช่วยที่ดีเมื่อมันส่งเสริมตัวเรา หรือความคลาดเคลื่อนนั้นอาจกลายเป็นอุปสรรคเมื่อมันเป็นเรื่องที่มองข้ามไม่ได้ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่จะมองหาข้อเสนอด้วยความตั้งใจจริงและเตรียมพร้อมที่จะรับมันด้วยใจที่ไม่ต่อต้าน เรื่องหนึ่งที่ควรระวังคือการพยายามอธิบายว่าทำไมมุมมองของผู้อื่นที่มีต่อเราจึงผิดพลาดและผิดพลาดอย่างไรบ้าง เพราะจะเป็นการส่งสัญญาณไม่ให้อีกฝ่ายให้ข้อเสนอแนะแก่เราอีก
เรามักจะได้รับข้อเสนอแนะที่มีประโยชน์ต่อตัวเองเมื่อเราบอกจุดที่ต้องการเรียนรู้อย่างเฉพาะเจาะจง ดังนั้นแทนที่จะถามว่า “คุณคิดอย่างไรกับฉัน?” ให้ลองถามว่า “เพื่อที่จะพัฒนาตัวเอง ฉันคิดว่าการรู้ว่าฉันดูเป็นคนอย่างไรในสายตาคนอื่นจะเป็นประโยชน์มาก คุณจะรังเกียจไหมหากฉันอยากขอให้คุณช่วยบอกว่าคำอธิบายคำไหนที่คุณนึกถึงเมื่อต้องแนะนำฉันให้คนอื่นรู้จัก” หรืออาจเจาะจงมากกว่านั้นด้วยคำถามเช่น “ในการประชุมทีมเมื่อเช้านี้ ฉันไม่แน่ใจว่าตัวเองดูวิพากษ์วิจารณ์ไอเดียของทิพย์มากไปหรือเปล่า คุณคิดว่าในตอนนั้นฉันแสดงออกอย่างไร?” แม้การเรียงคำหรือคำที่เลือกใช้จะต่างกัน แต่สิ่งที่ควรให้ความสำคัญคือการสื่อสารความตั้งใจรับฟังและเปิดรับมุมมองของผู้อื่นออกไปอย่างจริงใจ ไม่ใช่จ้องที่จะได้ฟังคำตอบที่อยากฟัง
การตระหนักรู้ตนเองในรูปแบบต่าง ๆ และวิธีที่ช่วยพัฒนามากมายถูกเชื่อมโยงเข้าด้วยกันด้วยความตั้งใจที่จะพัฒนาและการทุ่มเทพลังงานและเวลา ดังนั้นการพยายามพัฒนาตนเองในด้านจึงอาจเป็นเรื่องที่ยากเมื่อชีวิตเต็มไปด้วยความยุ่งและวุ่นวาย อย่างไรก็ตาม เช่นเดียวกับเรื่องทั่ว ๆ ไป กระบวนการเหล่านี้จะกลายเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้นด้วยการฝึกฝน
แล้วเหตุใดจึงควรหันมาสนใจการพัฒนาการตระหนักรู้ตนเอง? เพราะการที่มันเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของความฉลาดทางอารมณ์ทำให้มันเป็นองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้ของการควบคุมอารมณ์เช่นกัน กล่าวได้ว่าการเพิ่มการตระหนักรู้ตนเองไม่เพียงส่งผลให้เกิดการควบคุมตนเองที่ดีขึ้น แต่ยังเป็นข้อกำหนดเบื้องต้นของการมีความฉลาดทางอารมณ์เช่นกัน
HR องค์กรใด อยากบอกรักพนักงานแบบเกร๋ๆ เท่ๆ แนว HR ยุคใหม่ ที่ดูเเลแบบนั่งอยู่ในใจพนักงาน ลองติดต่อ Solution ปรึกษานักจิตวิทยาจาก Relationflip : Innovative Mental Healthcare Web Application ที่พร้อมช่วยพนักงานของคุณดีลกับปัญหาและเป็นที่ปรึกษาในทุกๆ เรื่องนะคะ Tel: 099-0026888 #InnovativeMentalHealthcare #MentalHealthcareService #Relationflip