บทความน่ารู้

ไขความลับของจิตใจนักผัดวันประกันพรุ่งตัวยง

          Tim Urban เจ้าของบล็อกชื่อดัง “Wait But Why” ได้ขึ้นเวทีของ TED Talk เพื่อเล่าถึงสิ่งที่เขาได้ค้นพบในฐานะนักผัดวันประกันพรุ่งตัวยง เขาเกริ่นด้วยเรื่องราวสมัยมหาวิทยาลัยที่เขาทำวิทยานิพนธ์ 90 หน้าภายใน 3 วัน ทั้งที่โดยปกติแล้วควรจะใช้เวลา 1 ปีในการทำ เหตุเกิดจากการผัดวันประกันพรุ่งของตัวเขาตลอดทั้งปีนั่นเอง เหตุการณ์นี้ถือเป็นหนึ่งในจุดเริ่มต้นที่ทำให้ Tim เริ่มเขียนเกี่ยวกับการผัดวันประกันพรุ่งเพราะต้องการเข้าใจกลไกของมัน

 

          เพื่ออธิบายว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในหัวของนักผัดวันประกันพรุ่ง Tim ได้สร้างโครงร่างที่แสดงถึงระบบของการผัดวันประกันพรุ่ง ซึ่งประกอบด้วย 3 ตัวละคร:

 

          1. the Rational Decision-Maker (นักตัดสินใจอย่างมีเหตุผล)

          2. the Instant Gratification Monkey (เจ้าลิงไม่อดทนรอคอย)

          3. the Panic Monster (เจ้าปีศาจตื่นตระหนก)

 

The Rational Decision-Maker (นักตัดสินใจอย่างมีเหตุผล)

          ตัวละครนี้มีหน้าที่ตามชื่อของมัน ซึ่งคือการตัดสินใจลงมือทำสิ่งที่มีประสิทธิผลต่อชีวิต และทำให้สามารถบริหารเวลาและพลังงานชีวิตอย่างเหมาะสม หรือเรียกง่าย ๆ ว่าได้การได้งาน ตัวละครนี้จะคำนึงถึงข้อมูลต่าง ๆ ที่สำคัญและตัดสินใจเลือกสิ่งที่เราควรทำที่สุด ณ ตอนนั้น

 

นักตัดสินใจอย่างมีเหตุผลมอบความสามารถในการทำสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ในมนุษย์ ดังนี้:

          - จินตนาการภาพในอนาคต

          - มองเห็นภาพรวม

          - วางแผนการระยะยาว

 

The Instant Gratification Monkey (เจ้าลิงไม่อดทนรอคอย)

          เจ้าลิงไม่อดทนรอคอยอาศัยอยู่ในช่วงเวลาแห่งปัจจุบัน หรือ “ตอนนี้” เท่านั้น มันไม่มีความทรงจำเกี่ยวกับอดีตและไม่รู้จักสิ่งที่เรียกว่าอนาคต เพราะมันสนใจเพียงแค่ 2 สิ่ง: ความง่ายและความสนุก

          แม้เจ้าลิงจะถือเป็นตัวละครที่ดีสำหรับมนุษย์ยุคหิน เพราะมันสนใจแค่การนอนหลับ การกินอาหาร และการสืบพันธุ์ แต่สำหรับมนุษย์ในยุคแห่งอารยธรรมอันศิวิไลซ์แล้ว เจ้าลิงไม่ใช่ตัวละครที่ส่งผลดีต่อตัวเราเท่าไหร่นัก เพราะมันทำให้เราหลีกเลี่ยงสิ่งที่ยากแต่จำเป็นในการใช้ชีวิตอย่างมีความหมาย

 

ความสมานฉันท์และความขัดแย้ง

          ในบางครั้งการทำสิ่งที่ง่ายและสนุกสนานก็เป็นเรื่องสมเหตุสมผล ซึ่งถือว่าเป็นกรณีที่นักตัดสินใจอย่างมีเหตุผลและเจ้าลิงไม่อดทนรอคอยสมานฉันท์กัน และอาจนำไปสู่ช่วงเวลาที่แสนเพลิดเพลินใจในที่สุด

          แต่ในบางครั้งการทำสิ่งที่ยากขึ้นและสนุกน้อยลงจะสมเหตุสมผลมากกว่า สถานการณ์เช่นนี้จะทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างตัวละครทั้งสอง และเจ้าลิงก็มักจะได้รับชัยชนะอยู่บ่อย ๆ ซึ่งส่งผลให้เราผัดวันประกันพรุ่งนั่นเอง

          เมื่อเราผัดวันประกันพรุ่ง เราจะทำกิจกรรมที่ง่ายและสนุกในเวลาที่ไม่เหมาะไม่ควร ซึ่งในท้ายที่สุดจะนำไปสู่ความสนุกที่ไม่สนุกอย่างแท้จริง เพราะภายใต้ความสนุกยังมีความรู้สึกผิด ความหวาดกลัว ความกังวล และความเกลียดชังที่มีต่อตัวเองเนื่องจากได้ใช้เวลาไปกับการผัดวันประกันพรุ่งนั่นเอง

 

The Panic Monster (เจ้าปีศาจตื่นตระหนก)

          เจ้าปีศาจตื่นตระหนกมักจะจำศีลอยู่ตลอด แต่มันจะตื่นขึ้นมาเมื่อ:

          - กำหนดส่งกำลังใกล้เข้ามา

          - มีความเสี่ยงที่จะเกิดความอับอายต่อหน้าสาธารณชน

          เจ้าลิงไม่อดทนรอคอยกลัวปีศาจตัวนี้มาก เมื่อปีศาจตื่นขึ้น เจ้าลิงจึงยอมยกการควบคุมกลับไปให้นักตัดสินใจอย่างมีเหตุผล

 

ประเภทของการผัดวันประกันพรุ่ง

          มีการผัดวันประกันพรุ่ง 2 ประเภท ได้แก่

          1. การผัดวันประกันพรุ่งในสิ่งที่ยากและมีกำหนดส่ง

          2. การผัดวันประกันพรุ่งในสิ่งที่ยากและไม่มีกำหนดส่ง

          สำหรับประเภทแรก เราจะสามารถจัดการกับมันได้ในที่สุด ดังนั้นผลจากการกระทำของเราจึงเป็นผลระยะสั้น เพราะเจ้าปีศาจตื่นตระหนกจะโผล่มาแค่ตอนที่ใกล้ถึงกำหนดส่งเท่านั้น

          อย่างไรก็ตาม การผัดวันประกันพรุ่งประเภทที่ 2 เป็นประเภทที่อันตราย เพราะเมื่อไม่มีกำหนดส่ง เจ้าปีศาจก็จะไม่มีวันตื่นขึ้นมา และเราก็จะสามารถผัดวันประกันพรุ่งได้ตลอดกาลนั่นเอง ที่แย่ไปกว่านั้นก็คือการที่การผัดวันประกันพรุ่งประเภทนี้มักจะเห็นได้ไม่ชัดเจน เรามักจะทรมานไปกับมันอย่างเงียบงันอยู่คนเดียว จึงนำไปสู่ความทุกข์และความผิดหวังระยะยาว

 

เราต่างมีประสบการณ์กับการผัดวันประกันพรุ่งประเภทที่ 2

          ในตอนแรกหลายสิ่งในชีวิตล้วนไม่มีกำหนดเวลาสุดท้ายที่ต้องทำให้เสร็จ ดังนั้นจึงจะไม่มีอะไรเกิดขึ้นจนกว่าเราจะเริ่มลงมือทำบางสิ่งที่ยากแต่มีความหมาย

          ตัวอย่างสิ่งที่ไม่มีกำหนดเวลาสุดท้าย เช่น

          1. การไปเยี่ยมเยือนครอบครัว

          2. การออกกำลังกาย

          3. การรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ

          4. การสานสัมพันธ์กับคนใหม่ ๆ

          ดังนั้น จงบริหารเวลาให้ดี เพราะแท้จริงแล้วชีวิตของเราคือกำหนดเวลาสุดท้ายที่สำคัญที่สุด เราอาจไม่ได้มีเวลาให้ลอยชายมากเท่ากับที่เราคิด เพราะฉะนั้นจงเฝ้าระวังเจ้าลิงไม่อดทนรอคอยที่กระโดดโลดเต้นอยู่ในสมองของเราอยู่เสมอ และลงมือทำในสิ่งที่สำคัญกับเรา ไม่ว่าสิ่งนั้นจะมีกำหนดเวลาสุดท้ายหรือไม่ก็ตาม

 

 

         HR องค์กรใด อยากบอกรักพนักงานแบบเกร๋ๆ เท่ๆ แนว HR ยุคใหม่ ที่ดูเเลแบบนั่งอยู่ในใจพนักงาน ลองติดต่อ Solution ปรึกษานักจิตวิทยาจาก Relationflip : Innovative Mental Healthcare Web Application ที่พร้อมช่วยพนักงานของคุณดีลกับปัญหาและเป็นที่ปรึกษาในทุกๆ เรื่องนะคะ Tel: 099-0026888 #InnovativeMentalHealthcare #MentalHealthcareService #Relationflip

Reference:

https://youtu.be/arj7oStGLkU?si=r_O8EubsDduyzjhP

https://www.ricklindquist.com/notes/inside-the-mind-of-a-master-procrastinator-via-ted

https://medium.com/@apoddar573/inside-the-mind-of-a-master-procrastinator-tim-urban-6e0f90907569