บทความน่ารู้

3 วิธีรักษาสมดุลของชีวิตและรับมือกับความเครียด

          คงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจหากการรักษาสมดุลระหว่างงานและชีวิตส่วนตัว (Work-life balance) เป็นเรื่องที่ท้าทายในโลกที่ผู้คนเชื่อมต่อกันตลอด 24 ชั่วโมง หนึ่งในหลักฐานสำคัญคือโทรศัพท์หรือแล็ปท็อปที่วางไม่ห่างตัวแม้ยามนอน ถึงแม้ว่าอุปกรณ์ดิจิตอลเหล่านี้จะต้องมีติดตัวไว้เพื่อความอุ่นใจ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าพวกมันเป็นส่วนที่ทำให้การรักษาสมดุลของชีวิตเป็นเรื่องที่ยากยิ่งขึ้น และอุปกรณ์เหล่านี้ยังเอื้ออำนวยให้เราสามารถเห็นความเคลื่อนไหวของผู้อื่นได้ตลอดเวลา เราจึงมีแนวโน้มที่จะใช้เวลาไปกับการสอดส่องผู้อื่นซึ่งอาจนำไปสู่ความเครียดได้

          ความเครียดสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาโดยไม่เลือกสถานที่และเวลาที่จะเกิด ซึ่งแต่ละคนก็มีวิธีรับมือกับความเครียดที่แตกต่างกันไป บางคนอาจเลือกที่จะศึกษาเกี่ยวกับการรักษาสมดุลของงานและชีวิต บางคนอาจหันไปพึ่งฤทธิ์แอลกอฮอล์ จะเห็นได้ว่าทางออกของเรามักจะมาจากเสียงที่ดังขึ้นภายในใจของเราเอง

          ในขณะที่สูตรตายตัวในการหยุดยั้งความเครียดในชีวิตประจำวันเป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง สิ่งที่สามารถทำได้คือการรับมือกับผลกระทบของความเครียดเพื่อป้องกันไม่ให้มันทำลายสุขภาวะของเรา โดยมุมมองของเราในเรื่องของความเครียดเป็นตัวกำหนดว่าเราจะรับมือกับสาเหตุของความเครียดอย่างไร

 

3 วิธีง่าย ๆ เพื่อจัดการกับผลกระทบของความเครียด มีดังนี้:

 

1. รู้ว่าเมื่อไรที่ควรหยุดพัก

          การรู้ขีดจำกัดของตัวเองเป็นหนึ่งในวิธีการสร้างสมดุลให้กับชีวิต เพราะถ้าหากเราไม่รู้ข้อจำกัดและความสามารถของตัวเองดี เราก็เปรียบเสมือนตัวอันตรายต่อตนเองและผู้อื่น แม้การก้าวข้ามขีดจำกัดจะเป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้ แต่อย่าลืมคิดว่าเราจะทำแบบนั้นเพื่อสิ่งใด และมันคุ้มค่าจริงหรือที่จะทำ

          เป็นเรื่องที่รู้กันโดยสามัญสำนึกว่าถ้าเราทำงานหนักเพื่อทำงานหนึ่งให้สำเร็จจนได้นอนเพียง 3-4 ชั่วโมงเป็นระยะเวลานาน ผลลัพธ์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือสภาพร่างกาย อารมณ์ และจิตใจที่พังลง เมื่อถึงจุดนี้ก็ไม่ต่างจากการเอาสุขภาพไปแลกกับการบรรลุเป้าหมาย ทางออกของปัญหานี้คือการจัดลำดับความสำคัญว่าอะไรคือสิ่งที่สำคัญและจำเป็นต้องทำ และอะไรคือสิ่งที่สามารถต่อรองได้

          การรู้ว่าเมื่อไรที่ควรพักการใช้อุปกรณ์ดิจิตอลและสิ่งรบกวนอื่น ๆ ที่ทำให้เสียสุขภาพจะช่วยปรับสมดุลจิตใจและสุขภาวะของเรา ดังนั้น การกำหนดเวลาหยุดพักที่ชัดเจนจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก

 

2. ประเมินตนเอง

ตัวอย่างของคำถามที่สามารถใช้ในการประเมินตนเอง เช่น:

          - เป้าหมายที่ฉันกำลังไล่ตามคืออะไร?

          - ทำไมฉันจึงไล่ตามเป้าหมายนั้น?

          - การบรรลุเป้าหมายนั้นจะช่วยเติมเต็มสิ่งใดให้ฉัน?

          - เป้าหมายนั้นจะยังสำคัญไหมในอีก 10 ปีข้างหน้า?

          - คำถามเหล่านี้จะช่วยกระตุ้นให้กลับมาทบทวนตนเอง (Self-reflection) อย่างจริงจังมากยิ่งขึ้น เพราะที่ผ่านมาเราอาจเคยคิดถึงเรื่องเหล่านี้ แต่ก็ปล่อยผ่านไปโดยไม่ได้ให้ความสนใจมาก การทำ Self-reflection จึงเป็นการกลับมาขบคิดคำถามเหล่านี้เพื่อหาคำตอบที่สามารถใช้การได้จริง แม้การเผชิญหน้ากับคำถามประเมินตนเองจะเป็นเรื่องยาก แต่ยิ่งเริ่มทบทวนตัวเองได้เร็วมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเริ่มเตรียมตัวสำหรับขั้นต่อไปได้เร็วขึ้นเท่านั้น

 

3. ล้อมรอบตัวเองด้วยคนที่ไว้ใจและห่วงใยสุขภาวะของเรา

          วิถีชีวิตแบบรักสุขภาพกายและใจไม่ได้เกิดขึ้นได้จากตัวคนเดียว แต่จะเกิดขึ้นในชุมชนที่มอบแรงสนับสนุนให้กัน นั่นคือสาเหตุที่การมีกลุ่มคนที่คอยสนับสนุนกันและกันในด้านต่าง ๆ เป็นเรื่องสำคัญ ยกตัวอย่างเช่นในบางครั้ง การตกผลึกความคิดยากจะเกิดขึ้นด้วยตัวคนเดียว แต่สามารถเกิดขึ้นได้จากข้อเสนอแนะของผู้อื่น

          นอกจากนี้ การปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นยังทำให้เรารู้ว่าเราไม่ใช่คนเดียวที่เผชิญกับปัญหาที่เรามี และเมื่อรู้เช่นนั้น เราก็จะมีที่พึ่งพิงมากขึ้นเมื่อต้องการคำแนะนำในการรับมือ อีกตัวเลือกหนึ่งคือกลุ่มสนับสนุนอย่างเป็นทางการที่จะมีผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาคอยให้คำแนะนำ โดยการพูดคุยจะเป็นไปอย่างเป็นกันเองและทำให้สบายใจ ในปัจจุบันกลุ่มปรึกษามีทั้งในรูปแบบของออนไลน์และตัวต่อตัว ซึ่งสามารถเลือกใช้บริการได้ตามสะดวก

 

          โดยสรุปแล้ว การสร้างสมดุลระหว่างงานและชีวิตส่วนตัวเริ่มต้นที่ตัวเรา อันดับแรกคือการถามตัวเองว่าอะไรคือสิ่งที่เราต้องการ การใช้เวลาเพื่อไตร่ตรองคำถามนั้นก็เปรียบเสมือนการเปิดประตูให้คำถามอื่น ๆ ซึ่งนำไปสู่การทำให้สถานการณ์ชัดเจนยิ่งขึ้น และผลักดันให้เราออกตามหาคนที่จะร่วมเป็นแรงสนับสนุนในการจัดการความเครียดให้กันและกันนั่นเอง

 

         HR องค์กรใด อยากบอกรักพนักงานแบบเกร๋ๆ เท่ๆ แนว HR ยุคใหม่ ที่ดูเเลแบบนั่งอยู่ในใจพนักงาน ลองติดต่อ Solution ปรึกษานักจิตวิทยาจาก Relationflip : Innovative Mental Healthcare Web Application ที่พร้อมช่วยพนักงานของคุณดีลกับปัญหาและเป็นที่ปรึกษาในทุกๆ เรื่องนะคะ Tel: 099-0026888 #InnovativeMentalHealthcare #MentalHealthcareService #Relationflip

Reference: https://www.psychologytoday.com/us/blog/humanizing-the-world-of-work/202308/3-ways-to-make-work-and-life-more-integrated-les