บทความน่ารู้

คู่มือการรับมือกับความขัดแย้ง

          เมื่อรู้สึกโกรธหรือเสียใจกับสิ่งที่ใครสักคนพูดกับเรา รู้หรือไม่ว่าเจตนาที่แท้จริงของเขาคือการทำร้ายเราหรือเปล่า? โดยส่วนมากเรามักจะตอบสนองต่อสิ่งที่คนอื่นพูดตามที่เราตีความเจตนาของเขา เช่น เขาจงใจเมินเฉยหรือเหยียบย่ำความต้องการทางสังคมของเราหรือไม่ และเรายังมักจะจินตนาการว่าอีกฝ่ายกำลังคิดอะไรเมื่อพวกเขาพูดสิ่งนั้นออกมา

 

จุดแข็งและอุปสรรคของความต้องการทางสังคม

          นับตั้งแต่ลืมตาดูโลก พฤติกรรมของเราจะได้รับอิทธิพลจากความต้องการทางสังคม เช่น ความต้องการความสนใจ ความรัก และความปลอดภัย และเมื่อเราเริ่มก้าวออกจากครอบครัวเพื่อเข้ากับกลุ่มสังคมอื่น พฤติกรรมบางประการก็จะเริ่มมีความสำคัญมากกว่าพฤติกรรมอื่น ๆ เพื่อการวางตัวอย่างมั่นใจและสบายใจ ซึ่งพฤติกรรมเหล่านั้นได้รับอิทธิพลจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นมา เช่น ความต้องการเป็นที่เคารพนับถือ ถูกยอมรับ ควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ และเป็นที่ชื่นชอบ

          เมื่อมองในแง่บวก ความต้องการทางสังคมสามารถกระตุ้นความสำเร็จทั้งในชีวิตส่วนตัวและในการทำงานได้ เพราะความต้องการความสนใจจะช่วยให้เราประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานอย่างเช่นนักเขียน อาจารย์ และ ผู้บรรยาย ความต้องการการยอมรับจะช่วยขับเคลื่อนให้เราตั้งใจทำงานให้ออกมาดี และความต้องการเป็นผู้ควบคุมสถานการณ์จะส่งเสริมให้เราเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ

          แม้พฤติกรรมที่เราทำซ้ำ ๆ เหล่านี้จะกลายเป็นจุดแข็งของเรา แต่มันก็สามารถเป็นอุปสรรคให้กับเราได้เช่นกัน

          การถูกปฏิเสธหรือการถูกเย้ยหยันในความต้องการทางสังคมอาจทำให้เราหมดความมั่นใจและความภูมิใจในตัวเอง และความเครียดทางอารมณ์ที่เกิดจากการที่มองว่าสังคมไม่ยอมรับตัวเองยังส่งผลให้รู้สึกวิตกกังวล ไม่เชื่อมั่นในตัวเอง และสิ้นหวังอีกด้วย ซึ่งระดับของความทุกข์ที่เกิดมักจะเกี่ยวข้องกับสังคม วัฒนธรรม ความเชื่อทางศาสนา และความคาดหวังของคนสำคัญในชีวิต

          มนุษย์เราต่างต้องการที่จะถูกมองเห็น ถูกยอมรับ ได้รับความเข้าใจ ได้รับความห่วงใย และได้รับการให้ค่าในสิ่งที่เรารู้ สิ่งที่เราทำ และสิ่งที่เราเป็น เราจึงเก็บมาคิดมากเมื่อจุดแข็ง ผลงาน หรือความสามารถของเราไม่ได้รับการมองเห็นและยอมรับ อาจกล่าวได้ว่าเราจะรู้สึกถูกล่วงล้ำเมื่อมีใครสักคนล้ำเส้นจนกระทบกับความรู้สึกปลอดภัยและเกียรติยศของเรา และการตอบสนองเมื่อความต้องการไม่ถูกเติมเต็มจะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ซึ่งสามารถเป็นได้ตั้งแต่ความรู้สึกเจ็บปวดจนถึงความเดือดดาลนั่นเอง

 

บริหารอารมณ์ชั่ววูบ

          ลองนึกถึงครั้งสุดท้ายที่คุณรู้สึกขุ่นเคือง กังวล หรือเจ็บปวดจากการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นดู อะไรคือสิ่งที่คุณหวังว่าจะได้รับแต่กลับไม่ได้รับจากการปฏิสัมพันธ์นั้น? แล้วตอนที่คุณนำประชุมทีมหรือพบลูกค้าใหม่แต่ไม่ได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการล่ะ? คุณรู้สึกไร้ความสามารถ ไร้ค่า หรือถูกดูแคลนหรือเปล่า? การพิจารณาว่าอะไรเป็นสิ่งที่คุณคิดว่าเสียไปจะช่วยให้สามารถมองการตอบสนองของตัวเองได้อย่างเป็นกลางในอนาคต

          แทนที่จะรู้สึกอับอายหรือหงุดหงิดกับอารมณ์ชั่ววูบที่บอกให้คุณปกป้องตัวเอง โน้มน้าวผู้อื่น หรือปิดกั้นตัวเอง ให้คุณใช้เวลาคิดทบทวนการตอบสนองของตัวเอง ตั้งคำถามว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้คุณตอบสนองออกไปเช่นนั้น และเรียนรู้จากมัน การยอมรับสิ่งที่คุณต้องการแต่ไม่สมหวังสามารถช่วยทำให้การควบคุมของความต้องการที่มีต่อสมองลดลง ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการตระหนักรู้ในตนเองและการควบคุมอารมณ์ชั่ววูบเมื่อเราปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น

          เนื่องจากสมองของเรามีการตอบสนองที่ไว ทักษะสำคัญจึงเป็นการรู้ตัวเมื่อเรากำลังตอบสนองออกไปและเปลี่ยนอารมณ์อย่างรวดเร็ว การตระหนักรู้ว่าตัวเองกำลังตอบสนองเป็นขั้นแรก โดยที่ร่างกายของเราจะช่วยบอกใบ้ สำหรับบางคนอาจเป็นความรู้สึกปั่นป่วนในกระเพาะ หัวใจที่เต้นแรงขึ้น หรือความรู้สึกร้อนขึ้นมาที่หลังคอ ยิ่งเรารับรู้อาการเหล่านี้ได้เร็ว เราก็จะสามารถเลือกอารมณ์ที่เราอยากจะรู้สึกได้เร็วไปตามกัน หลังจากนั้น เราก็จะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงด้วยการทำใจให้สงบและรับอารมณ์ที่เราเลือกสู่ร่างกายของเรา

          การพัฒนาทักษะทางจิตใจข้างต้นต้องใช้เวลา และเมื่อร่วมกับการฝึกฝนเป็นประจำก็จะนำไปสู่การพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการฝึกฝนสามารถทำได้ง่าย ๆ ด้วยการตั้งนาฬิกาให้เตือน 3 ครั้งต่อวันเป็นเวลา 2 สัปดาห์เพื่อเตือนให้เราถามตัวเองว่า “ฉันกำลังรู้สึกอย่างไร มีความรู้สึกอื่นที่ฉันอยากรู้สึกแทนไหม” เป็นต้น

 

ให้ความสำคัญกับความต้องการของตัวเอง

          เมื่อความต้องการถูกเมินเฉยหรือเอามาเป็นที่ขบขัน มันก็คงไม่เป็นเรื่องที่แปลกหากคุณจะตอบสนองกลับไปด้วยความโกรธหรือความเงียบงันที่เต็มไปด้วยความเจ็บปวดใจและการกล่าวโทษตัวเอง คุณอาจโต้กลับหรือเก็บแผลใจไว้กับตัวเอง ถึงแม้ว่าคุณจะแสร้งทำเป็นว่าคุณไม่เป็นอะไร คุณก็อาจไม่มีวันให้อภัยในความผิดพลาดครั้งนั้น ความเชื่อมั่นที่มีในความสัมพันธ์จึงทลายลงในที่สุด

          ความต้องการต่อไปนี้คือตัวกระตุ้นอารมณ์ที่พบบ่อยที่สุด กล่าวคือเมื่อคุณรู้สึกว่าความต้องการเหล่านี้จะไม่ถูกหรือไม่ถูกเติมเต็ม คุณก็จะมีการตอบสนองกลับไป

          - การถูกยอมรับ

          - การได้รับความเคารพ

          - การได้รับความชื่นชอบ

          - การถูกเข้าใจ

          - การเป็นที่ต้องการ

          - การได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม

          - ความรู้สึกถูกรัก

          - ความรู้สึกว่าตัวเองสำคัญ

          - ความรู้สึกปลอดภัย

          - ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง

          - การที่ความพยายามและความต้องการถูกยอมรับ

          - การที่ความรู้และประสบการณ์ถูกให้คุณค่า

 

4 ประโยคช่วยลดความขัดแย้ง

          การตั้งสมมติฐานว่าใครบางคนมีเจตนาที่จะดูหมิ่นคุณสามารถนำไปสู่การทะเลาะเบาะแว้งได้ เพื่อป้องกันไม่ให้สิ่งนั้นเกิดขึ้น ลองถามดูว่าคุณสามารถพูดให้ฟังได้ไหมว่าคุณกำลังรู้สึกอย่างไร หากอีกฝ่ายเป็นคนที่รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ให้นำ 4 ประโยคนี้ไปใช้เพื่อลดความรุนแรงของความขัดแย้งลง

 

          1. “นี่คือสิ่งที่ฉันได้ยินว่าคุณพูด”

พูดคีย์เวิร์ดที่อีกฝ่ายพูดออกมาใน 1-2 ประโยค สิ่งสำคัญคืออย่าเพิ่มการตีความหรือความหมายที่คุณสันนิษฐานเข้าไป

 

          2. “ฉันรู้สึกว่าคุณไม่ได้…(แจ้งว่าอะไรคือสิ่งที่คุณไม่ได้รับ)...”

บอกในสิ่งที่คุณรู้สึกว่าคุณไม่ได้รับจากอีกฝ่าย เช่น ความเคารพ การยอมรับ หรือบทสนทนาที่ไร้ซึ่งการตัดสิน

 

          3. “ฉันหวังว่าเราจะสามารถคุยกันถึงสิ่งที่เราทั้งคู่ต้องการเพื่อทำให้ความสัมพันธ์ของเราแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น”

แจ้งในผลลัพธ์ที่คุณหวังว่าจะเกิดขึ้นหลังได้เปิดใจคุยกัน

 

          4. “ในอนาคต ฉันอยากให้คุณ…….. แล้วคุณล่ะ มีอะไรที่อยากให้ฉันทำหรือเปลี่ยนแปลงไหม?”

คำแถลงข้อสุดท้ายคือคำขอร้องว่าคุณอยากให้ความต้องการของคุณถูกเติมเต็มอย่างไร

 

 

         HR องค์กรใด อยากบอกรักพนักงานแบบเกร๋ๆ เท่ๆ แนว HR ยุคใหม่ ที่ดูเเลแบบนั่งอยู่ในใจพนักงาน ลองติดต่อ Solution ปรึกษานักจิตวิทยาจาก Relationflip : Innovative Mental Healthcare Web Application ที่พร้อมช่วยพนักงานของคุณดีลกับปัญหาและเป็นที่ปรึกษาในทุกๆ เรื่องนะคะ Tel: 099-0026888 #InnovativeMentalHealthcare #MentalHealthcareService #Relationflip

Reference: https://www.psychologytoday.com/us/blog/wander-woman/202309/4-things-to-say-to-resolve-a-conflict