บทความน่ารู้

ผู้นำ: ตำแหน่งที่ยิ่งใหญ่ มาพร้อมกับความรับผิดชอบอันใหญ่ยิ่ง

          ในแวดวงของการทำงานจำเป็นจะต้องมี “ผู้นำ” หรือหัวหน้าที่คอยนำทางและควบคุมดูแลการทำงานของผู้ใต้บังคับบัญชา แม้ผู้นำแต่ละคนมีความแตกต่างกัน แต่ท้ายที่สุดแล้วพวกเขาก็มีจุดร่วมกันอยู่บางประการ ดังนี้

 

1. วิสัยทัศน์ (Vision)

          อันดับแรกคือ “วิสัยทัศน์” หรือความสามารถในการกำหนดเป้าหมายภายใต้ข้อจำกัดของเวลา ทรัพยากร และความต้องการที่มี ไม่ว่าคุณคิดจะเริ่มต้นสร้างทุกอย่างขึ้นมาหรือสานต่อกิจการของครอบครัว คุณก็จะเจอตัวแปรที่คาดคิดไม่ถึงมากมาย เช่น การเจอเรื่องที่ต้องประนีประนอม หรือการที่ไม่ประสบความสำเร็จในทุกสิ่งที่ทำ

          ดังนั้น สิ่งที่คุณควรพิจารณาคือความผิดหวังระดับใดที่คุณสามารถยอมรับและไม่ทำให้ละทิ้งจุดมุ่งหมายแรกเริ่มของคุณ คุณจะทำอย่างไรเพื่อรวบรวมแรงสนับสนุนและเปลี่ยนแปลงวิสัยทัศน์ที่พิสูจน์แล้วว่ามีข้อจำกัดที่มากเกินไปทั้งสำหรับตัวคุณและคนรอบข้าง

 

2.  ความมุ่งมั่นและความยืดหยุ่น (Determination and flexibility)

          อันดับที่ 2 มาด้วยกันเป็นคู่ เพราะเมื่อคุณเข้าใจวิสัยทัศน์ของตัวเองแล้ว คุณก็จะต้องค้นหาเจตจำนงและทรัพยากรภายนอกเพื่อไล่ตามเป้าหมาย แต่อย่างไรก็ตาม คุณสมบัติของผู้นำไม่ได้มีเพียงแค่การพาทุกคนไปสู่เป้าหมาย แต่จะต้องคำนึงถึงสภาพจิตใจของคนที่อยู่ในความดูแลด้วย เพราะฉะนั้นความยืดหยุ่น (รวมถึงความเข้าอกเข้าใจ) จึงเป็นคุณสมบัติอีกข้อที่ผู้นำพึงมี คุณจะต้องบ่มเพาะความเชื่อใจในผู้ที่เข้ามามีส่วนร่วมกับการริเริ่มของคุณซึ่งจะเพิ่มจำนวนคนขึ้นเรื่อย ๆ

          ในแง่นี้ ความมุ่งมั่นที่มาพร้อมกับความยืดหยุ่นจึงเป็นการรักษาสมดุลของความต้องการใหม่ ๆ ที่ปรากฏขึ้นบนเส้นทางที่คุณกำลังเดินอยู่ จงอย่าลืมว่าความสมดุลไม่ใช่การหยุดนิ่ง เพราะกลยุทธ์ที่คุณใช้เพื่อช่วยให้คงความมุ่งมั่นเอาไว้มักจะเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ

 

 3. การวางแผนและการจัดระเบียบองค์กร (Planning and organization)

          อันดับที่ 3 คือการวางแผนและการจัดระเบียบองค์กร ซึ่งเกี่ยวข้องกับการวางแผน การดำเนินการ และการควบคุมการทำงานขององค์กร หากคุณวาดภาพเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่เอาไว้ คุณจะทำอย่างไรเพื่อสร้างกรอบความคิดขึ้นมาและกำหนดรายละเอียดสำคัญ คุณมองออกไหมว่าอะไรคือสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น คุณรู้ไหมว่าอะไรคือสิ่งที่ควรเน้นย้ำในแต่ละช่วงเวลา และคุณจะพึ่งพาคนอื่นอย่างไรโดยที่ไม่หลงลืมวิสัยทัศน์แรกเริ่มของตน แม้การวางแผนและการจัดระเบียบองค์กรเป็นสิ่งที่ทำให้กังวลใจได้มากพอ ๆ กับการไล่ตามวิสัยทัศน์ แต่ในความเป็นจริงแล้วมันกลับตรงไปตรงมามากกว่าที่คิด

 

4. การสื่อสารและการร่วมมือ (Communication and collaboration)

          อันดับที่ 4 คือการสื่อสารและการร่วมมือ ตั้งอยู่บนแนวคิดที่ว่า “ผู้นำไม่เป็นหัวเดียวกระเทียมลีบ” เพราะผู้ที่จะขอความช่วยเหลือเมื่อมีโอกาสอย่างผู้นำจะต้องสานสัมพันธ์กับผู้อื่น ในฐานะผู้นำ คุณควรวางตัวในแบบที่ผู้อื่นเข้าใจและชื่นชม และควรมีความสามารถในการสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อื่นเพื่อช่วยในการเดินหน้าแผนการของตัวเอง เครือข่ายเช่นนี้จะดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ แม้ตัวบุคคลและวิธีการสานสัมพันธ์จะแตกต่างกันออกไป จึงกล่าวได้ว่าผู้นำคือผู้ที่มากด้วยเครือข่าย ซึ่งเครือข่ายนี้จะมีประโยชน์ทั้งในการสื่อสารและการร่วมมือกัน อย่างไรก็ตาม การร่วมมือกันจะเกิดขึ้นได้เมื่อมีการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ ดังนั้นผู้นำจะต้องเป็นผู้ที่จุดประกายการสื่อสารขึ้นมาโดยไม่ลืมจุดมุ่งหมายของตัวเอง

 

5. ความรับผิดชอบในหน้าที่ (Responsibility)

          อันดับที่ 5 คือความรับผิดชอบ ซึ่งเป็นคุณลักษณะที่จำเป็นต่อการเป็นผู้นำที่จะต้องออกหน้าในสถานการณ์ที่น่าผิดหวังโดยไม่โยนความผิดให้ผู้อื่นหรืออ้างแต่ข้อแก้ตัว การมีความรับผิดชอบในหน้าที่ซึ่งรวมไปถึงการเผชิญหน้ากับสถานการณ์ตึงเครียดอย่างยืดหยุ่นและกล้าหาญ เป็นหนึ่งในสิ่งที่กำหนดว่าผู้อื่นคิดกับผู้นำอย่างไรในระยะยาว ยกตัวอย่างเช่น คนรอบข้างตัวคุณอาจถามตัวเองในใจว่าคุณเป็นคนที่มีความซื่อสัตย์ไหม มีกลยุทธ์มากพอที่จะเอาตัวรอดในสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงต่อความเป็นอยู่ขององค์กรหรือเปล่า คำถามเหล่านี้เป็นคำถามที่สำคัญ เพราะมันเกี่ยวข้องกับความเชื่อมั่นซึ่งเป็นใจกลางของความสำเร็จของผู้นำนั่นเอง

          เป็นเรื่องที่แน่นอนว่าคุณสมบัติเหล่านี้ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ เพราะคุณคงไม่สามารถที่จะวางแผนได้ดีหากไม่มีความยืดหยุ่น ดังนั้น ผู้นำจึงเป็นผู้ที่มีความสามารถรอบด้านและพัฒนาทักษะของตัวเองอย่างสม่ำเสมอเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทายมากมายในอนาคต อย่างไรก็ดี การฝึกฝนการเป็นผู้นำไม่ใช่เรื่องที่ง่ายและยังต้องใช้เวลา แต่ท้ายที่สุดก็จะสามารถฟันฝ่าความกดดันจนผลักดันตัวเองให้อยู่ในจุดที่เก่งขึ้นได้

          อีกสิ่งสำคัญคืออย่าลืมว่าไม่ว่าการฝึกฝนความเป็นผู้นำจะท้าทายถึงเพียงใด มันก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของชีวิตของคุณเท่านั้น คุณจะต้องรู้ว่าเมื่อไหร่ที่ควรหยุดพัก ถอยมาตั้งหลัก และใช้ชีวิตของคุณนอกเหนือจากชีวิตการทำงานด้วย ไม่ว่าคุณจะเป็นคนที่เคร่งครัดกับการทำงานมากขนาดไหน ก็อย่าลืมที่จะสลัดตำแหน่งหน้าที่ออกไปเมื่อคุณกลับถึงบ้าน อาจกล่าวได้ว่าผู้นำที่ดีจะต้องรู้จักที่จะพักผ่อนและแยกชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวนั่นเอง

 

 

         HR องค์กรใด อยากบอกรักพนักงานแบบเกร๋ๆ เท่ๆ แนว HR ยุคใหม่ ที่ดูเเลแบบนั่งอยู่ในใจพนักงาน ลองติดต่อ Solution ปรึกษานักจิตวิทยาจาก Relationflip : Innovative Mental Healthcare Web Application ที่พร้อมช่วยพนักงานของคุณดีลกับปัญหาและเป็นที่ปรึกษาในทุกๆ เรื่องนะคะ Tel: 099-0026888 #InnovativeMentalHealthcare #MentalHealthcareService #Relationflip

Reference: https://www.psychologytoday.com/us/blog/resilience/202311/what-it-takes-to-be-a-leader