บทความน่ารู้

8 เคล็ดวิธีหยุดการเร่งรีบที่ไม่จำเป็น

          เราทุกคนต่างเคยมีสักครั้งที่สถานการณ์บีบบังคับให้ต้องวิ่งแข่งกับเวลา แต่กับบางคนสถานการณ์เช่นนั้นกลับเกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เราเรียกอาการเช่นนี้ว่า “Rushing” หรือการเร่ง ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่เป็นผลลัพธ์ของการมองว่ามีเวลาไม่พอ เมื่อรู้สึกว่าเวลากำลังกดดันเราอยู่ เราจะตอบสนองด้วยการเร่งทำสิ่งต่าง ๆ ให้เสร็จเร็วขึ้น ถึงแม้ว่าพฤติกรรมเร่งรีบเช่นนี้จะเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ในสถานการณ์ที่เหลือเวลาน้อยจริง ๆ เช่นการวิ่งไปขึ้นเครื่องบินเมื่อประตูขึ้นเครื่องกำลังจะปิด แต่การเร่งรีบไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นในกิจกรรมส่วนมาก และการเร่งรีบเพื่อให้ผ่านเวลา “ตอนนี้” ไปไวขึ้นรังแต่จะสร้างความเสียหายต่อสุขภาวะของเรา

          เราอาจรีบทำงานให้เสร็จไปทีละงานเป็นนิสัย แต่เคยสงสัยไหมว่าอะไรที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เราเร่งรีบอยู่ตลอดเวลา

ตัวอย่างของสาเหตุเหล่านั้นมีดังนี้:

          •           ความคาดหวังและบรรทัดฐานของสังคม: ผู้คนในบางสังคมมองว่าการที่เรายุ่งตลอดเวลาเป็นสัญญาณของผลิตภาพ (Productivity) และความสำเร็จ เพราะฉะนั้นผู้คนจึงพยายามทำให้ตารางให้แน่น แต่กลับให้เวลาและความตั้งใจกับแต่ละงานเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

          •           การสำคัญตน: เคยรู้จักคนที่ดูเหมือนจะไม่เคยมีเวลาให้กับเราและทำทุกอย่างด้วยความเร่งรีบเมื่อใช้เวลากับผู้อื่นไหม คนบางคนทำเช่นนั้นเพื่อที่จะประกาศความสูงส่งของตน กล่าวคือพวกเขามองว่าการเร่งรีบคือการทำให้ความสำคัญของตัวเองเป็นที่ยอมรับของผู้อื่น

          •           การไม่จัดลำดับความสำคัญ: ในบางครั้ง เราตัดสินใจเรื่องความสำคัญและคุณค่าของงานผิดพลาด และไม่ได้ยกสิ่งที่สำคัญมาทำก่อน ผลของความผิเพลาดนั้นก็คือการที่เราทำเหมือนทุกสิ่งเป็นเรื่องฉุกเฉินที่จะต้องทำให้เสร็จในตอนนั้น

          •           การผัดวันประกันพรุ่ง: เราอาจใช้เวลาไปกับการทำเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ไม่สำคัญ ในขณะที่เรื่องที่สำคัญกลับถูกมองข้ามจนต้องมาเร่งทำในนาทีสุดท้าย

          •           ความใจร้อน: คนบางคนอาจไม่มีความอดทนเท่ากับผู้อื่น จึงเร่งทำงานต่าง ๆ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์อย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

 

วิธีลดความเร่งรีบที่ไม่จำเป็น

          เคล็ดลับที่อาจช่วยให้เราช้าลงและสนุกสนานไปกับสิ่งที่เราทำมากขึ้น มีดังนี้:

 

1. จัดลำดับความสำคัญ

          แม้จะมีบางงานจะสำคัญและเร่งด่วนกว่างานอื่น ๆ แต่ไม่ใช่ว่าทุกงานที่เราต้องทำเป็นเรื่องฉุกเฉิน สิ่งที่เราควรทำคือการพิจารณาว่างานไหนที่ต้องทำให้เสร็จในเร็ววัน และงานไหนที่ยังรอได้

 

2. จัดการเวลาให้ดี

          การจัดการเวลาเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ทำงานได้เสร็จทันเวลา การแบ่งงานเป็นส่วนเล็ก ๆ แล้วทำไปเรื่อย ๆ ถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่จะช่วยให้เราไม่ต้องเร่งทำไม่กี่วันก่อนกำหนดส่ง นอกจากนี้ยังสามารถใช้ปฏิทินเพื่อช่วยวางแผนตารางเวลาของแต่ละสัปดาห์หรือแต่ละเดือนอีกด้วย

 

3. รู้ข้อจำกัดทางเวลาของตน

          ในบางครั้งเราอาจรับงานมากเกินกว่าที่เราสามารถทำไหว และต้องลงเอยเร่งรีบทำงานให้เสร็จทันเวลาในที่สุด ดังนั้น การกำหนดขอบเขตจำนวนงานเอาไว้และพูดปฏิเสธงานที่เกินจำนวนนั้นไปเป็นเรื่องที่ดี

 

4. มีสติ

          ในบางครั้งอาจเป็นเรื่องยากที่จะอดทนเมื่อสิ่งที่เราต้องการคือการไปถึงเป้าหมาย การฝึกสติจะช่วยให้เราเข้าใจว่าอะไรกำลังเกิดขึ้นรอบตัว และทำให้เราให้ความสำคัญกับกระบวนการที่จะพาไปสู่จุดหมายมากขึ้น

 

5. ลดจำนวนงาน

          สำหรับงานบางงานที่เราทำเองซ้ำ ๆ เราอาจขอความช่วยเหลือจากผู้อื่นได้ เช่น เราอาจลองถามคนที่อาศัยร่วมกันว่าช่วยแบ่งเบางานบ้านไปสักหน่อยได้ไหม

 

6. เตรียมพร้อมรับมือกับสิ่งที่ไม่คาดคิด

          พยายามทำตัวให้พร้อมรับมือตัวแปรที่ไม่คาดคิดอยู่ตลอด (เช่น การจราจรที่ติดขัดในวันที่ต้องรีบไปประชุมใหญ่ หรืออาการป่วยที่เกิดขึ้นมาอย่างกะทันหันในช่วงสำคัญของงานที่ทำอยู่) การเผื่อเวลาในการทำงานต่าง ๆ ช่วยหลีกเลี่ยงความเครียดที่เกิดขึ้นจากความวุ่นวายเหล่านั้น และยังทำให้เราสามารถทำงานส่งทันโดยไม่ต้องเร่ง

 

7. อย่าทำงานหลายอย่างพร้อมกัน (Multitask)

          สมองของเราสามารถประมวลผลได้เพียงสิ่งเดียวต่อครั้งเท่านั้น เราควรที่จะหลีกเลี่ยงการทำงานหลายอย่างพร้อมกันนอกเสียจากว่างานอีกงานของเราไม่จำเป็นต้องใช้สมาธิ

 

8. ทำสิ่งต่าง ๆ ให้ช้าลง

          ลองทำสิ่งต่าง ๆ ให้ช้าลงและใช้เวลาเพื่อพิจารณาทุกข้อมูลที่มีในการทำงาน การตัดสินใจอย่างรวดเร็วอาจนำไปสู่ความผิดหวังและความเสียดายในระยะยาว

 

         HR องค์กรใด อยากบอกรักพนักงานแบบเกร๋ๆ เท่ๆ แนว HR ยุคใหม่ ที่ดูเเลแบบนั่งอยู่ในใจพนักงาน ลองติดต่อ Solution ปรึกษานักจิตวิทยาจาก Relationflip : Innovative Mental Healthcare Web Application ที่พร้อมช่วยพนักงานของคุณดีลกับปัญหาและเป็นที่ปรึกษาในทุกๆ เรื่องนะคะ Tel: 099-0026888 #InnovativeMentalHealthcare #MentalHealthcareService #Relationflip

Reference: https://www.psychologytoday.com/us/blog/click-here-for-happiness/202309/how-to-stop-rushing