บทความน่ารู้

5 เคล็ดวิธีหลีกเลี่ยงภาวะหมดไฟส่งท้ายปี

          ช่วงเวลาส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ มักจะเป็นช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยสีสันของเทศกาลเสมอ แต่สำหรับใครหลาย ๆ คนมันกลับเป็นช่วงเวลาที่รู้สึกเหนื่อยล้าจนหมดเรี่ยวแรง ด้วยภาระงานที่ต้องจัดการให้เสร็จสิ้นก่อนจบปี รวมถึงกิจกรรมมากมายร่วมกับครอบครัวหรือคนสนิทเพื่อเฉลิมฉลองปีใหม่จนตารางแน่นขนัด จึงไม่เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจหากคุณจะรู้สึกหมดเรี่ยวแรง หมดไฟ หรือหมดซึ่งกำลังใจในการทำสิ่งต่าง ๆ

          ความรู้สึกเหล่านี้เป็นสัญญาณของภาวะหมดไฟ (Burnout Syndrome) หรือความรู้สึกเหนื่อยล้าทางกายและทางใจ Christina Maslash นิยามภาวะหมดไฟว่าเป็นสภาวะทางจิตวิทยาที่ปรากฏขึ้นหลังเผชิญกับความเครียดในระยะยาว ส่งผลให้รู้สึกเหนื่อยล้า ขาดแรงจูงใจในการทำงาน เดินหน้าอย่างไร้จุดมุ่งหมาย และยังส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง ถึงแม้ว่าภาวะหมดไฟส่งท้ายปีจะเป็นผลลัพธ์จากความเครียดที่เกิดจากการทำงานที่ดำเนินมาอย่างยาวนานและไม่ได้รับการแก้ไข มันก็เป็นเรื่องยากที่จะแบ่งความเครียดเป็นส่วน ๆ เพื่อจัดการไปทีละส่วนและป้องกันไม่ให้มันส่งผลกระทบต่อมิติอื่น ๆ ของชีวิต (เช่น ภาระหน้าที่ ครอบครัว คนรอบตัว หรือชีวิตส่วนตัวของเรา) เนื่องจากภาวะหมดไฟส่งท้ายปีนั้นเกิดจากทั้งความเครียดในที่ทำงานที่ยาวนานและปัจจัยต่าง ๆ เช่น สิ่งที่เรามุ่งหมายว่าจะทำให้สำเร็จ คุณค่าที่เรายึดมั่น ความเชื่อ เป้าหมาย และทัศนคติ ในส่วนของผลกระทบที่เกิดขึ้น การเผชิญภาวะหมดไฟสามารถบั่นทอนทั้งสุขภาพจิต (เช่น โมโหร้ายง่ายขึ้น) สุขภาพกาย (เช่น ความดันสูง) และความสัมพันธ์ (เช่น การเอาความเครียดไปลงที่คนรัก) เป็นต้น

 

          5 เคล็ดวิธีหลีกเลี่ยงภาวะหมดไฟ

 

1. หลีกเลี่ยงการรับบทผู้ถูกกระทำ

          ขอแนะนำให้หลีกเลี่ยงการโอ้อวดภาวะหมดไฟของตัวเองลงบนโซเชียลมีเดียหรือระหว่างบทสนทนากับเพื่อนและเพื่อนร่วมงาน เพราะยิ่งเราแข่งกันอวดว่าตัวเองเหนื่อยล้ามากเท่าไหร่ หรือทำงานเกินเวลาและยาวนานมากขนาดไหน เราก็จะยิ่งรู้สึกถึงความจำเป็นที่จะต้องดูยุ่งอยู่ตลอด และยังกดดันให้คนรอบข้างลุกขึ้นมาเข้าร่วมเทรนด์ทำตัวให้ยุ่งเกินความเป็นจริง ในทางที่ดีเราควรหลีกเลี่ยงการโอ้อวดหรือการรับบทผู้ถูกกระทำเช่นนี้ แล้วหันมาหาเวลาดูแลตัวเองและบูรณาการ work-life balance (การปรับสมดุลระหว่างงานและชีวิตส่วนตัว) ให้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตแทน

 

2. ให้ความสำคัญกับทุกมิติของชีวิต

          ผลวิจัยเผยว่าการเพิ่มพูนมิติหนึ่งของชีวิต (เช่น การดูแลตัวเอง) จะแพร่กระจายผลลัพธ์ที่ดีไปยังมิติอื่น ๆ ด้วย (เช่น การทำงาน) เพราะฉะนั้น ผู้ว่าจ้างหรือหัวหน้าควรให้ความสำคัญกับการดูแลตัวเองเพื่อความเป็นอยู่ดีที่ขึ้นของพนักงาน และควรเล็งเห็นถึงความแตกต่างของประสิทธิภาพในการทำงานระหว่างคนที่มีสุขภาวะที่ดีกับคนที่ตกอยู่ในภาวะหมดไฟ

 

3. เริ่มต้นที่ตัวเรา

          ดังสำนวนสุภาษิตที่ว่า "กรรมใดใครก่อ กรรมนั้นคืนสนอง" หากเรากระทำดี ผลจากการกระทำที่ย้อนคืนมาสู่ตัวเราก็จะเป็นผลที่ดี ดังนั้น การตั้งเป้าหมายดูแลสุขภาวะในปีใหม่ก็จะส่งผลให้เราได้รับสิ่งที่ดีเป็นผลตอบแทน การดูแลสุขภาวะและป้องกันภาวะหมดไฟสามารถทำได้ด้วยการพักผ่อน การรู้เท่าทันอารมณ์ความรู้สึกของตัวเอง การฝึกสติ ฝึกลมหายใจ โยคะ นั่งสมาธิ การใช้เวลาข้างนอก และการให้ความสำคัญกับการนอนหลับที่เพียงพอ เป็นต้น สิ่งสำคัญก็คือการหาว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้เรามีความสุขและให้ความสำคัญกับมันนั่นเอง

 

4.  ปรับกรอบความคิด (Mindset)

          อย่าลืมว่าเราอยู่ในโลกที่ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ เพราะฉะนั้นเราเองก็ไม่สามารถทำทุกสิ่งให้สมบูรณ์แบบได้เช่นกัน แต่ในความเป็นจริงแล้ว การไขว่คว้าความสมบูรณ์แบบไม่ใช่เรื่องที่จำเป็นด้วยซ้ำ เพราะแค่ทำออกมาให้ดีพอก็เพียงพอแล้ว นอกจากนี้ยังควรตั้งความคาดหวังอยู่บนสมมติฐานของความเป็นจริง ซึ่งการยอมรับในข้อจำกัดก็จะช่วยให้สามารถปรับความคาดหวัง เป้าหมาย และทัศนคติได้ดี ในท้ายที่สุดก็คืออย่ามัวแต่เศร้าโศกกับสิ่งที่ทำไม่สำเร็จ และอย่าลืมเฉลิมฉลองให้กับความสำเร็จของตัวเอง

 

5. ทิ้งความเร่งด่วนไว้ข้างหลัง

          ในยุคปัจจุบัน ความเร่งด่วนได้กลายเป็นส่วนประกอบหลักที่ผสานเข้าไปในชีวิตของผู้คน ไม่ว่าจะเป็นการตอบข้อความหรือการเร่งทำงานด่วนที่ได้รับมาโดยไม่ทันตั้งตัว กล่าวได้ว่าการมองทุกสิ่งสำคัญรอบตัวให้เป็นเรื่องเร่งด่วนนั้นท่วมท้นในจิตใจของเรา ดังนั้น สิ่งที่ควรทำระหว่างวันหยุดที่จะถึงคือตัดขาดกับความเร่งด่วนชั่วคราว ซึ่งอาจเป็นการ digtal detox หรืองดใช้เทคโนโลยี และหันมาให้ความสนใจกับครอบครัว เพื่อนฝูง และตัวเองมากขึ้น

 

 

         HR องค์กรใด อยากบอกรักพนักงานแบบเกร๋ๆ เท่ๆ แนว HR ยุคใหม่ ที่ดูเเลแบบนั่งอยู่ในใจพนักงาน ลองติดต่อ Solution ปรึกษานักจิตวิทยาจาก Relationflip : Innovative Mental Healthcare Web Application ที่พร้อมช่วยพนักงานของคุณดีลกับปัญหาและเป็นที่ปรึกษาในทุกๆ เรื่องนะคะ Tel: 099-0026888 #InnovativeMentalHealthcare #MentalHealthcareService #Relationflip

Reference: https://www.psychologytoday.com/us/blog/ethically-speaking/202312/five-tips-for-avoiding-end-of-year-burnout