บทความน่ารู้

การสร้างขอบเขตความสัมพันธ์อย่างนุ่มนวล

          ขอบเขตของความสัมพันธ์ (Interpersonal boundaries) คือสิ่งที่เมื่อแสดงออกอย่างเหมาะสมจะช่วยให้เรารู้สึกปลอดภัยในความสัมพันธ์ ซึ่งความรู้สึกปลอดภัยนั้นจะช่วยให้เราสามารถเปิดใจให้กับอีกฝ่าย และยังเพิ่มความสนิทสนมของทั้งสองฝ่ายอีกด้วย ความสัมพันธ์ที่ดีจะเริ่มต้นจากการเข้าหากันเมื่อมีขอบเขตของความสัมพันธ์ที่เหมาะสมแล้ว เพราะจะช่วยลดโอกาสของการบังคับสร้างขอบเขตขึ้นมา และยังต่างจากผู้ที่ด้อยความเข้าใจในเรื่องขอบเขตที่จะพึ่งขอบเขตของอีกฝ่ายเพราะไม่สามารถสร้างขึ้นมาเองได้ ในทางกลับกัน ผู้ที่ไม่สามารถรับรู้ถึงขอบเขตของผู้อื่นหรือผู้ที่จงใจละเมิดขอบเขตของผู้อื่น (ซึ่งมีโอกาสสูงที่จะเป็นผู้ที่มีอาการบุคลิกภาพผิดปกติหรือ Personality disorders) มักจะรู้สึกถูกล่วงเกินโดยการมีอยู่ของขอบเขต และเลือกที่จะต่อต้านหรือทดสอบมัน

          การเผชิญหน้าอีกฝ่ายคือสิ่งสำคัญในการสร้างขอบเขตของความสัมพันธ์ โดยเฉพาะการแจ้งอีกฝ่ายถึงพฤติกรรมหรือการขาดพฤติกรรมบางอย่างที่ไม่สามารถยอมรับได้ อย่างไรก็ตาม อาจมีหลายคนที่รู้สึกอึดอัดกับการเผชิญหน้าเพราะมองว่ามันเป็นการกระทำที่ก้าวร้าว หรืออาจมีหลายคนที่แสดงขอบเขตของตนอย่างแข็งกร้าวด้วยตื่นตระหนกที่จะต้องเผชิญหน้า หรือเพียงเพราะไม่รู้ว่าควรจะทำตัวอย่างไร ย่อหน้าต่อจากนี้จึงจะช่วยยกตัวอย่างการสร้างขอบเขตของความสัมพันธ์อย่างนุ่มนวลและเห็นอกเห็นใจผู้อื่น

          สถานการณ์ตัวอย่างเกิดขึ้นในบริเวณที่อยู่อาศัยที่ปลอดบุหรี่ แขกผู้มาเยือนผู้มีความประพฤติเหมาะสมจะไม่เดินเข้าที่พักอาศัยของผู้อื่นแล้วสูบบุหรี่  แต่จะถามเจ้าบ้านว่าสามารถสูบได้ไหม และยินดีไม่สูบเมื่อเจ้าบ้านไม่อนุญาต ในทางกลับกัน แขกที่ไม่รับรู้ถึงขอบเขตส่วนบุคคลจะทำตรงกันข้าม ซึ่งเจ้าบ้านควรจะต้องกำหนดขอบเขตขึ้นมาในกรณีหลัง โดยเผชิญหน้ากับแขกผู้นั้นและห้ามปรามไม่ให้สูบบุหรี่ในที่พักอาศัย ตัวอย่างของการเผชิญหน้าอย่างก้าวร้าวที่ไม่แนะนำมีดังนี้

 

“เอาบุหรี่ออกไปจากที่นี่เดี๋ยวนี้!”

“กล้าดีอย่างไรมาสูบบุหรี่ในบ้านของฉัน!”

“คนแบบไหนกันที่จะจุดไฟสูบบุหรี่ในบ้านของคนอื่น?”

 

          การสร้างขอบเขตรูปแบบนี้มักถูกมองว่าเป็นการแสดงความจองหองหรือดูหมิ่น ในกรณีที่ดีที่สุดคำพูดเหล่านี้อาจใช้ได้ผล แต่การแสดงออกอย่างไม่ให้เกียรติกันก็สามารถเป็นตัวทำลายความสัมพันธ์ได้ หากเป็นกรณีที่แย่ที่สุด การกำหนดขอบเขตอย่างรุนแรงสามารถกระตุ้นความเป็นปรปักษ์หรืออาการต่อต้านในผู้ป่วยที่มีอาการบุคลิกภาพผิดปกติ ผลลัพธ์ของกรณีตัวอย่างก็อาจเป็นอย่างกรณีที่แย่ คือการสูบบุหรี่ต่อแม้จะถูกปรามแล้ว หรือการดับบุหรี่ด้วยพรมในบ้าน เป็นต้น อีกผลลัพธ์ที่เป็นไปได้คือการที่แขกผู้นั้นทำตัวฉลาดแกมโกงกับขอบเขตที่ตั้งไว้ เช่น สูบบุหรี่ในห้องน้ำที่เปิดหน้าต่างและพัดลมเอาไว้ หรือเลือกใช้บุหรี่ไฟฟ้าแทน เป็นต้น

          การสร้างขอบเขตของความสัมพันธ์อย่างนุ่มนวลจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด ซึ่งสามารถทำได้ตามข้อแนะนำด้านล่าง แม้จะไม่สามารถหยิบคำแนะนำเหล่านี้ขึ้นมาใช้ได้ในทุกสถานการณ์ แต่ทุกข้อก็มีประโยชน์ที่ต่างกันไป และจะยิ่งได้ผลเมื่อใช้ร่วมกัน

 

          - โทนเสียงเป็นสิ่งที่สำคัญมากไม่ว่าจะเลือกใช้คำไหนก็ตาม ควรพูดด้วยน้ำเสียงที่นุ่มนวลและสื่อถึงความเห็นอกเห็นใจ

          - แสดงความเคารพแก่กัน ไม่ใช่เอาแต่เรียกร้องสิ่งที่ต้องการ

          - แสดงการรับรู้และความขอบคุณถึงความเสียสละหรือความพยายามในการเคารพขอบเขตของอีกฝ่าย

          - ใช้ข้อเสนอแนะที่ทำให้อีกฝ่ายสบายใจที่จะเคารพขอบเขตของตน

 

หากมีการตั้งขอบเขตเรื่องเขตปลอดบุหรี่ภายในบ้านกับแขกผู้มาเยือน ข้อเสนอแนะที่นุ่มนวลอาจเป็นดังนี้

          - “เรารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะได้ต้อนรับคุณสู่บ้านของเรา เรารู้ว่าคุณสูบบุหรี่ แต่เราไม่มีพื้นที่สูบบุหรี่ในบ้านเลย ดังนั้นเราจึงจัดเตรียมโต๊ะและไฟแช็กเอาไว้ให้บนดาดฟ้า กรุณาอย่าลังเลที่จะบอกเราหากมีสิ่งที่เราสามารถทำเพื่อให้การพักผ่อนของคุณเป็นไปอย่างสบายใจ ขอขอบคุณในความเข้าใจของคุณ”

          - โดยปกติแล้ว การคงความนุ่มนวลหลังขอบเขตที่ตั้งไว้ถูกละเมิดเป็นเรื่องที่ยากและท้าทาย การละเมิดที่จงใจหรือเกิดขึ้นบ่อยคือสิ่งที่ควรนำมาพิจารณาว่าบุคคลผู้นั้นยังคงน่าคบหาหรือไม่ อย่างไรก็ตาม แม้ในกรณีเช่นนี้ การเข้าหาอย่างนุ่มนวลก็ยังเป็นวิธีที่จะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด เช่น

          - “เราคงจะต้องย้ำเตือนว่าคุณห้ามสูบบุหรี่ในบ้านของเรา มีอะไรที่เราสามารถทำเพื่อให้คุณรู้สึกสบายใจขึ้นไหม เราจะได้สามารถใช้เวลาร่วมกันอย่างมีความสุขต่อไป”

          - การใช้วิธีปกป้องขอบเขตอย่างนุ่มนวลจะเป็นประโยชน์ให้แก่ความสัมพันธ์ต่าง ๆ นอกเหนือจากนี้ การเผชิญหน้าก็เป็นวิธีการสื่อสารที่มีประโยชน์ ดังนั้น การประยุกต์ใช้การเผชิญหน้าอย่างนุ่มนวลจะทำให้สามารถสื่อสารกับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพนั่นเอง

 

 

         HR องค์กรใด อยากบอกรักพนักงานแบบเกร๋ๆ เท่ๆ แนว HR ยุคใหม่ ที่ดูเเลแบบนั่งอยู่ในใจพนักงาน ลองติดต่อ Solution ปรึกษานักจิตวิทยาจาก Relationflip : Innovative Mental Healthcare Web Application ที่พร้อมช่วยพนักงานของคุณดีลกับปัญหาและเป็นที่ปรึกษาในทุกๆ เรื่องนะคะ Tel: 099-0026888 #InnovativeMentalHealthcare #MentalHealthcareService #Relationflip

Reference: https://www.psychologytoday.com/us/blog/my-side-of-the-couch/202312/how-to-set-interpersonal-boundaries-gently