บทความน่ารู้
10 วิธีหยุดยั้งการผัดวันประกันพรุ่ง
หากถามว่า “มีใครเคยรู้สึกผิดกับตัวเองที่ผัดวันประกันพรุ่งไหม?” คุณอาจพบว่าคุณไม่ใช่คนเดียวที่ยกมือขึ้นหลังฟังคำถามนี้ Joseph Ferrari นักจิตวิทยาจาก DePaul University ที่ชิคาโกเผยว่าผู้คนประมาณ 20 - 25 เปอร์เซ็นต์มีอาการผัดวันประกันพรุ่งเรื้อรัง บางคนอาจจะผัดวันประกันพรุ่งเพราะเชื่อว่าสามารถทำงานได้ดีเมื่อสถานการณ์บีบบังคับ บางคนอาจไม่กล้าขยับตัวทำอะไรเพราะถูกการแสวงหาความสมบูรณ์แบบ (Perfectionism) ครอบงำ หรือบางคนเพียงรู้สึกไม่อยากทำงานเท่านั้น ถึงแม้ว่าคนที่ผัดวันประกันพรุ่งแบบเรื้อรังควรต้องเข้ารับการรักษาด้วยจิตบำบัด แต่สำหรับคนอีก 80 เปอร์เซ็นต์นั้น ข้อแนะนำทั้ง 10 ข้อจาก Ferrari และ Timothy Pychyl นักจิตวิทยาจาก Carleton University ที่ออตตาวา ประเทศแคนาดาอาจช่วยคุณได้
1. “ฉันทำงานได้ดีภายใต้ความกดดัน” คือคำพูดคุ้นหูที่จะช่วยประวิงเวลาการเริ่มงานเอาไว้ แต่ผลวิจัยกลับไม่เห็นด้วยกับคำพูดนั้นเสียทีเดียว Ferrari และทีมวิจัยพบว่าความจริงแล้วนักผัดวันประกันพรุ่งแบบเรื้อรังจะมีประสิทธิภาพการทำงานภายใต้ข้อจำกัดทางเวลาน้อยกว่าผู้ที่ไม่ผัดวันประกันพรุ่ง แล้วยังมีโอกาสเกิดข้อผิดพลาดมากกว่าอีกด้วย อาจเป็นไปได้ว่าผู้ที่ผัดวันประกันพรุ่งจะมีโอกาสทำผิดพลาดได้เสมอ อย่างเช่นในกรณีตัวอย่างของการเลือกซื้อของ การรีบไปที่ซูเปอร์มาร์เก็ตจะทำให้มีเวลามากพอที่จะมองหาผลิตภัณฑ์ที่คุณภาพเยี่ยม แต่การรอจนถึงวินาทีสุดท้ายอาจทำให้ได้แต่ผลิตภัณฑ์ที่เหลืออยู่ซึ่งคุณภาพไม่ดีเท่าที่ควร
2. สิ่งเร้าที่ดึงให้เราเสียสมาธิมีอยู่รอบกาย และเราก็มักจะพ่ายแพ้ให้มันอยู่เสมอ Pychyl อธิบายว่าเรายอมให้สิ่งเร้าเหล่านั้นทำให้เราว่อกแว่กเพื่อความรู้สึกดีที่ตามมา เช่น การที่เรายอมพ่ายแพ้ให้กับความต้องการของตัวเองและเปิดเข้า Facebook ทั้งที่รู้ว่ายังมีงานรออยู่ หรือการที่ผู้รับการทดลองถูกดึงดูดด้วยรางวัลที่ได้ ณ ตอนนั้นมากกว่ารางวัลที่ต้องรอ เหตุผลคือเรามักจะพลาดในการพิจารณาถึงผลกำไรในอนาคตอย่างถี่ถ้วน เพราะในความเป็นจริงแล้ว การยึดหลักช้า ๆ ได้พร้าเล่มงามอาจทำให้เรารู้สึกดีมากกว่าในระยะยาว
3. การให้รางวัลเมื่อส่งงานทันเวลา คือหนึ่งในวิธีที่จะทำให้เราอยากทำงานให้เสร็จก่อนกำหนด เพราะโดยปกติแล้ว ผู้ที่ส่งงานสายกว่ากำหนดจะถูกลงโทษ ในขณะที่ผู้ที่ทำงานส่งทันเวลากลับไม่ได้รับรางวัลอะไร ดังนั้น อย่าลืมให้รางวัลตัวเองเมื่อสามารถส่งงานก่อนกำหนด (คำแนะนำข้อนี้สามารถนำไปใช้ร่วมกับข้อที่ 7)
4. ในความเป็นจริงแล้ว เราสามารถทำอะไรได้มากกว่าที่คิดภายในเวลา 15 นาที อย่างเช่นการหยิบบทพรีเซนต์งานขึ้นมาท่องจำระหว่างรอนัด ลองตั้งนาฬิกาจับเวลาแล้วหยิบงานที่คุณเอาแต่เลี่ยงขึ้นมาทำดู หรือคุณอาจจะลองเปลี่ยนวิธีในการคิดเกี่ยวกับงาน เช่น ลองคิดว่า “ในตอนนี้ ฉันโชคดีที่มีโอกาสทำงานนี้อีกครั้ง” แทนที่จะเป็น “ฉันต้องทำสิ่งนี้อีกครั้งจริง ๆ หรือ”
5. ท่องเอาไว้ว่า "Just do it" (ทำไปเสียเถอะ) เพราะถ้าคุณสามารถเริ่มงานตรงเวลาได้ ทัศนคติต่องานของคุณก็จะมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น กล่าวคือเมื่อคุณเริ่มลงมือทำแล้ว คุณก็จะเริ่มรู้สึกว่าสิ่งต่าง ๆ ไม่ได้ดูแย่สักเท่าไหร่ นอกจากนี้ ผลวิจัยโดย Kennon Sheldon จาก University of Missouri-Columbia ได้เผยว่าเราจะรู้สึกดีเมื่อเรามีความคืบหน้าในการทำตามเป้าหมาย และเมื่อเรามีความรู้สึกที่ดีต่อเป้าหมายมากขึ้น เราก็จะประสบความสำเร็จในการทำสิ่งต่าง ๆ มากขึ้นด้วย
6. อาจเป็นเรื่องที่น่าตกใจ แต่คำแนะนำที่บอกต่อกันอย่างแพร่หลายอย่างการทำลิสต์สิ่งที่ต้องทำอาจไม่ได้เป็นตัวช่วยที่ดีสำหรับทุกคน Ferrari อธิบายว่าเราไม่ได้ผัดวันประกันพรุ่งเพราะเราไม่รู้วิธีการสร้างลิสต์ขึ้นมา และในความเป็นจริงแล้วนักจิตวิทยาก็ยังหาคำตอบที่แน่นอนให้กับเรื่องนี้ไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตาม มันก็เป็นเรื่องที่ดีที่จะย่อยงานใหญ่ ๆ ลงเป็นชิ้นเล็ก ๆ หลายชิ้น โดยเฉพาะกับงานชิ้นใหญ่ที่ค้างอยู่ในลิสต์สิ่งที่ต้องทำมาเป็นสัปดาห์ ควรเลือกเสียว่าจะลงมือทำมันตอนนี้ หรือจะตัดมันออกไปจากลิสต์
7. จงทำให้เป้าหมายของคุณเป็นที่รู้โดยทั่วกัน เพราะการบอกเป้าหมายของคุณให้คนอื่นฟังจะสร้างความรู้สึกรับผิดชอบขึ้นมา หรืออาจลองสร้างกลุ่มของคุณกับเพื่อน ๆ ที่จะบรรลุเป้าหมายของตัวเองไปด้วยกันดู ถ้าหากลองยกตัวอย่าง แน่นอนว่าการออกไปวิ่งออกกำลังกายข้างนอกจะง่ายกว่าถ้ามีเพื่อนร่วมวิ่งด้วย เพราะการทำให้ตัวเองผิดหวังอาจเป็นเรื่องเล็ก แต่การทำให้เพื่อนผิดหวังนั้นเป็นอีกเรื่องที่เอามาเทียบกันไม่ได้เลย
8. จงอย่าตำหนิตัวเองจนเกินควรเมื่อคุณผัดวันประกันพรุ่ง คนบางคนเชื่อว่าตัวเองเป็นคนที่เลวร้ายเพราะเอาแต่ประวิงเวลาในการเริ่มงาน แต่ในความเป็นจริงแล้ว คนที่สามารถให้อภัยตัวเองได้มีโอกาสผัดวันประกันพรุ่งกับงานนั้นน้อยกว่าในอนาคต เพราะตามที่ผลวิจัยจาก University at Buffalo และ The State University of New York ได้กล่าวเอาไว้ การให้อภัยตัวเองมักสื่อถึงการให้คำสัญญากับตัวเองว่าจะเปลี่ยนพฤติกรรมในอนาคต
9. หากคุณพบว่าตัวเองมีพฤติกรรมหลีกหนีงาน Pychy ได้แนะนำให้ลองสังเกตสัญญาณเตือนของตัวเองดู เช่น เมื่อคุณเลื่อนเมาส์ไปยังปุ่มเช็กอีเมล ให้เตือนตัวเองทันทีว่าอย่าว่อกแว่กและจงอยู่กับสิ่งที่จำเป็นต้องทำให้เสร็จ John Perry จาก tanford University ได้เขียนเรียงความเกี่ยวกับกลยุทธ์ของเขาที่เรียกว่า Structured procrastination (การผัดวันประกันพรุ่งอย่างมีโครงสร้าง) ซึ่งเป็นการสร้างลิสต์สิ่งที่ต้องทำในรูปแบบที่สามารถหาประโยชน์จากนิสัย “ทำทุกสิ่งยกเว้นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ” โดย Perry จะเขียนสิ่งที่ดูเหมือนจะสำคัญและเร่งด่วนไว้ด้านบนสุด (ซึ่งความจริงแล้วไม่ใช่) ผลลัพธ์คือการที่เขาทำสิ่งอื่นในลิสต์จนครบเพื่อที่จะหลีกเลี่ยงการทำงานแรก นี่คือตัวอย่างของการสังเกตและใช้สัญญาณเกี่ยวกับการบ่ายเบี่ยงงานของคุณอย่างมีประสิทธิภาพ
10. การบ่ายเบี่ยงงานอาจเกิดขึ้นจากการทำในสิ่งที่ตัวเองไม่ชอบ เพราะฉะนั้น การมองหาสิ่งที่คุณมีความสุขที่จะทำและนำสิ่งนั้นมาเป็นงานของคุณก็อาจทำให้ชีวิตมีความสุขขึ้นได้ เพราะงานที่คุณทำจะเป็นงานที่มีความหมายต่อตัวคุณ ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าการเขียนลิสต์ของเวลาที่คุณมีความสุขอย่างแท้จริง จะเป็นการช่วยให้มองภาพได้ชัดขึ้นว่าอะไรที่คุณทำแล้วจะมีความสุข การปรึกษาที่ปรึกษาด้านอาชีพก็อาจช่วยได้เช่นดัน
HR องค์กรใด อยากบอกรักพนักงานแบบเกร๋ๆ เท่ๆ แนว HR ยุคใหม่ ที่ดูเเลแบบนั่งอยู่ในใจพนักงาน ลองติดต่อ Solution ปรึกษานักจิตวิทยาจาก Relationflip : Innovative Mental Healthcare Web Application ที่พร้อมช่วยพนักงานของคุณดีลกับปัญหาและเป็นที่ปรึกษาในทุกๆ เรื่องนะคะ Tel: 099-0026888 #InnovativeMentalHealthcare #MentalHealthcareService #Relationflip
Reference: https://www.psychologytoday.com/intl/articles/200809/end-procrastination-now